คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 146/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ส่งคำให้การจำเลยชั้นสอบสวนต่อศาลเมื่อจำเลยเบิกความเป็นพยานตนเองเพื่อแสดงว่าคำให้การจำเลยในชั้นศาลไม่ตรงกับในชั้นสอบสวน เป็นการทำลายน้ำหนักคำพยาน ศาลรับฟังได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนายทหารชั้นประทวน ประจำการสังกัดกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 7 และเป็นข้าราชการ ได้กระทำผิดกฎหมายกล่าวคือ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2496 เวลากลางวันจำเลยได้บังอาจมีไว้ซึ่งฝิ่นสุกหนัก 6,200 กรัม คิดเป็นราคาซึ่งรัฐบาลขายในท้องที่และในเวลาเกิดเหตุ เป็นเงิน 24,800 บาท โดยมิได้รับใบอนุญาตซึ่งออกให้ตามบทแห่งพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472 เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมทั้งฝิ่นดังกล่าวแล้วเป็นของกลาง เหตุเกิดที่ตำบลอนุสาวรีย์ อำเภอบางเขนจังหวัดพระนคร ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาของศาลให้จำคุกฐานปล้นทรัพย์ และพ้นโทษมายังไม่เกิน 5 ปี มากระทำผิดอีกเป็นการไม่เข็ดหลาบขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติฝิ่น พุทธศักราช 2472มาตรา 8, 69 และพระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2494 มาตรา 6, 11 กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 72 และขอให้ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีฝิ่น ส่วนข้อที่เคยต้องโทษให้การรับตามฟ้อง

ศาลทหารกรุงเทพฯ ทำการพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องจริง ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน จำเลยเป็นข้าราชการให้ลงโทษเป็นทวีคูณตามพระราชบัญญัติฝิ่น พุทธศักราช 2472 มาตรา 67 ทวิที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว รวมโทษจำคุกจำเลย 3 ปี เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 72 อีก 1 ใน 3 คงให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี ฝิ่นและกระเป๋าบรรจุฝิ่นของกลางให้ริบ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลทหารกลางพิพากษายืน

จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ได้นำรายงานการสอบสวนมายันจำเลยในระหว่างพิจารณาในตอนแถลงต่อศาลว่าหมดพยานจะสืบแล้วไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณา ศาลหาควรรับฟังไม่

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ได้ส่งคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนต่อศาล ในขณะที่จำเลยอ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน เพื่อแสดงว่าคำให้การของจำเลยในชั้นศาลไม่ตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวน การอ้างพยานเอกสารขึ้นยันคำเบิกความของพยานเพื่อทำลายน้ำหนักคำพยานเช่นนี้ ศาลย่อมรับฟังได้ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นให้ยกเสีย โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลทหารกลาง

Share