คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1459/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกปล้นทรัพย์ของผู้ตาย และผู้ถูกใช้ได้กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผลของการกระทำของผู้ถูกใช้ในการปล้นทรัพย์นั้นทั้งสิ้น เมื่อการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ใช้ย่อมต้องรับผิดในผลการกระทำของผู้ถูกใช้อันเนื่องจากการปล้นทรัพย์เสมือนเป็นตัวการเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๘๓, ๘๔, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๕๕, ๗๒, ๗๒ ทวิ, ๗๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖, ๘ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ ให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน จำนวน ๔๕,๓๐๐ บาท แก่เจ้าของและทายาทของผู้ตาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙ (๗), ๓๘๐ วรรคท้าย, ๓๘๐ ตรี, ๘๓, ๘๔, ๙๐ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสาม จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๕๕, ๗๒ ทวิ, ๗๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๗ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖, ๘ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ ลงโทษจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฐานมีอาวุธปืนซึ่งไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุกคนละ ๔ ปี ฐานพาอาวุธปืนจำคุกคนละ ๖ เดือน คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒ (๑) ให้จำคุกจำเลยทั้งสามไว้ตลอดชีวิต ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนซึ่งไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๒ ปี ๘ เดือน ฐานพาอาวุธปืนจำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๔ เดือน เมื่อเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๓) คงจำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไว้ตลอดชีวิต ให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน ๔๕,๓๐๐ บาท แก่เจ้าของและทายาทของผู้ตาย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ ๓ ไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ โดยถือว่าคดีมาสู่ศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๕
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๓๔๐ ตรี, ๘๔ จำคุก ๒๔ ปี จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๓๔๐ ตรี จำคุกคนละ ๒๔ ปี และความผิดข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ ๒ ปี กับความผิดข้อหาพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร จำคุกคนละ ๖ เดือน รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๒๖ ปี ๖ เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑๖ ปี จำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๑๗ ปี ๘ เดือน ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กับพวกได้ร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้เจ้าทรัพย์ถึงแก่ความตาย ส่วนจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กับพวกปล้นทรัพย์ของผู้ตายและผู้ถูกใช้ได้กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๑ ย่อมต้องรับผลของการกระทำของผู้ถูกใช้ในการปล้นทรัพย์นั้นทั้งสิ้น เมื่อการปล้นทรัพย์รายนี้เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ใช้ย่อมต้องรับผิดในผลการกระทำของผู้ถูกใช้อันเนื่องจากการปล้นทรัพย์ในฐานะเสมือนเป็นตัวการเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา ๓๔๐ ตรี, ๘๔ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา ๓๔๐ ตรี ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสาม คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒ (๑) คงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่นำโทษจำคุกความผิดกระทงอื่นมารวมกับโทษจำคุกตลอดชีวิตสำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share