คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1458/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 ที่ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่ เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างตามมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (4) นั้น มุ่งหมายถึงตัวลูกจ้างโดยตรงเป็นผู้กระทำให้เกิดหนี้หรือความเสียหายแก่นายจ้างและลูกจ้างได้ให้ความยินยอมแล้ว จึงหักค่าจ้างลูกจ้างได้ แต่โจทก์เป็นเพียงภริยาของ อ. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเช่นเดียวกับโจทก์ มิได้เป็นผู้ก่อหนี้หรือความเสียหายแก่จำเลย ย่อมไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้โจทก์จะทำหนังสือยอมให้หักค่าจ้างได้ จำเลยก็ไม่อาจหักค่าจ้างของโจทก์ได้
คำว่าหนี้อื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) หมายถึงหนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การชำระภาษีเงินได้ของลูกจ้าง หรือการชำระเงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างนั้นเอง เป็นต้น ซึ่งเกิดจากกฎหมายกำหนดหรือบัญญัติไว้ แต่กรณีที่สามีโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเช่นเดียวกับโจทก์เป็นผู้ทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย มิใช่หนี้อื่น ๆ ตามมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าจ้างให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2541 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งพนักงานขับรถ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,100 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2542 นายออด หาญสูงเนิน สามีของโจทก์ ซึ่งเป็นพนักงานขับรถของจำเลยเช่นเดียวกัน ได้ขับรถของจำเลยไปประสบอุบัติเหตุ ทำให้รถของจำเลยเสียหาย คิดเป็นเงิน 206,570 บาท จำเลยได้ให้นายออดออกจากงาน และนำค่าเสียหายที่จำเลยได้รับมาหักออกจากค่าจ้างที่โจทก์ได้รับแต่ละเดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2544 ถึงเดือนมิถุนายน 2546 รวม 26 ครั้ง เป็นเงินที่จำเลยหักออกจากค่าจ้างโจทก์ทั้งสิ้น 99,497 บาท ซึ่งเป็นเงินค่าจ้างที่จำเลยไม่สามารถหักจากโจทก์ได้ตามกฎหมายขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยจ่ายค่าจ้างรวม 99,497 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์บรรทุกปูนผง โจทก์ได้ตกลงให้จำเลยนำค่าเสียหายมาหักออกจากค่าจ้างที่โจทก์ได้รับจากจำเลยในแต่ละเดือน เนื่องจากนายออด หาญสูงเนิน สามีของโจทก์ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์บรรทุกปูนผงของจำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกปูนผงไปเกิดอุบัติเหตุได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินจำนวน 206,570 บาท และจำเลยได้ลดค่าเสียหายให้เป็นเงินจำนวน 26,570 บาท คงเหลือค่าเสียหายที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยนำมาหักออกจากค่าจ้างคิดเป็นเงิน 180,000 บาท โดยปัจจุบันจำเลยได้นำค่าจ้างของโจทก์ทุกเดือนมาหักออกจากค่าเสียหายแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2544 จนถึงเดือนเมษายน 2546 จำนวน 24 ครั้ง รวมเป็นเงินที่จำเลยหักไว้ 94,000 บาท และครั้งที่ 4 งวดประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2544 จำเลยหักเป็นเงินเพียง 4,000 บาท ไม่ใช่ 5,497 บาท ตามฟ้อง ซึ่งข้อตกลงหักค่าเสียหายออกจากค่าจ้างดังกล่าวเป็นข้อตกลงพิเศษระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ให้สิทธิแก่จำเลยที่จะทำได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีสิทธิหักค่าเสียหายโดยได้รับความยินยอมของโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและขัดต่อกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าจ้างที่หักไว้ 98,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 5 สิงหาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานขับรถตั้งแต่ปี 2541 ระหว่างเป็นลูกจ้างจำเลยได้ให้โจทก์ลงชื่อให้ความยินยอมให้จำเลยหักเงินค่าจ้างโจทก์ได้เป็นจำนวน 180,000 บาท เพื่อชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยซึ่งนายออด หาญสูงเนิน สามีโจทก์ได้กระทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยหักค่าจ้างโจทก์ไว้บางส่วนเรื่อยมาถึงเดือนมิถุนายน 2546 เป็นเงิน 98,000 บาท แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า มิใช่กรณีโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเป็นผู้กระทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจึงไม่เข้าข้อยกเว้น จำเลยจึงหักค่าจ้างโจทก์ไม่ได้ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีสิทธิหักค่าเสียหายจากค่าจ้างของโจทก์ได้เพราะโจทก์ได้ให้ความยินยอมแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างสมัครใจตกลงผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลย ถือได้ว่าโจทก์ได้ยอมรับผิดจะชำระหนี้ค่าเสียหายที่สามีโจทก์ได้กระทำไปอันเป็นหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และเป็นหนี้อื่น ๆ ตามความหมายในมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ด้วย จำเลยจึงมีสิทธิหักค่าจ้างของโจทก์ และไม่ต้องคืนเงินค่าจ้างส่วนที่หักไว้แล้วแก่โจทก์ เห็นว่า แม้โจทก์จะทำหนังสือยินยอมให้จำเลยหักค่าจ้างชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งนายออดสามีโจทก์ได้กระทำไว้แก่จำเลยก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 บัญญัติไว้ว่าห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ… (1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ กับ…(4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง กรณีตาม (4) นั้น มุ่งหมายถึงตัวลูกจ้างโดยตรงเป็นผู้กระทำให้เกิดหนี้หรือความเสียหายแก่นายจ้างและลูกจ้างได้ให้ความยินยอมแล้ว จึงหักค่าจ้างลูกจ้างได้ แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้โจทก์เป็นเพียงภริยาของนายออดมิได้เป็นผู้ก่อหนี้หรือความเสียหายแก่จำเลยแต่อย่างใด กรณีย่อมไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามบทกฎหมายดังกล่าวแม้โจทก์จะทำหนังสือยอมให้หักค่าจ้างได้ก็ตาม จำเลยก็หาอาจจะหักค่าจ้างของโจทก์ได้ไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์อีกว่า หนี้ของสามีโจทก์เป็นหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งยังเป็นหนี้อื่น ๆ ตามที่บทบัญญัติไว้ในมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) เช่นกัน เมื่อโจทก์ทำหนังสือยินยอมให้หักค่าจ้างโจทก์ไว้ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะหักค่าจ้างโจทก์ได้ เห็นว่า คำว่าหนี้อื่น ๆ นั้นย่อมหมายถึงหนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การชำระภาษีเงินได้ของลูกจ้างนั้นเอง หรือการชำระเงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างนั้นเอง เป็นต้น ซึ่งเกิดจากกฎหมายกำหนดหรือบัญญัติไว้ แต่กรณีนี้สามีโจทก์เป็นผู้ทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย จึงมิใช่หนี้อื่น ๆ ตามนัยแห่งมาตรา 76 วรรคหนึ่ง (1) จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าจ้างให้โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share