แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านและขอเป็นผู้จัดการมรดกเองหรือเป็นร่วมกับผู้ร้อง แล้วผู้คัดค้านได้ขอถอนคำร้องคัดค้านนั้นโดยอ้างว่าจะไปยื่นคำร้องใหม่ เมื่อศาลอนุญาตแล้ว คำร้องคัดค้านดังกล่าวก็หมดไป ต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำร้องเข้ามาใหม่ว่าผู้ร้องไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นสั่งกำหนดประเด็นไว้เพียงว่า ผู้ร้องสมควรเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ผู้คัดค้านมิได้คัดค้านอย่างใด จนเมื่อสืบพยานผู้ร้องไปหมดแล้ว ผู้คัดค้านจึงยื่นคำร้องคัดค้านเพิ่มเติมของเป็นผู้จัดการมรดกด้วย ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต แล้วพิพากษาตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ตั้งประเด็นว่าผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่นั้นไม่ชอบผู้คัดค้านมีพยานหลักฐานแสดงว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ร้องกับผู้ตาย ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องนี้ด้วย และให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง ศาลอุทธรณ์สั่งยกอุทธรณ์โดยเหตุที่ผู้คัดค้านมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องขอเพิ่มเติมคำคัดค้านของจำเลย หรืออุทธรณ์คัดค้านในเนื้อหาแห่งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ปัญหาที่ผู้คัดค้านขอร่วมเป็นผู้จัดการมรดกมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ผู้คัดค้านฎีกาต่อมาจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาย่อมไม่วินิจฉัยให้และยกฎีกาเสีย
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางแสวงผู้ตายผู้คัดค้านคัดค้านคำร้องของผู้ร้องและขอเป็นผู้จัดการมรดกเองหรือเป็นร่วมกับผู้ร้อง ต่อมาผู้คัดค้านขอถอนคำร้องคัดค้านดังกล่าวเพื่อยื่นคำร้องใหม่และได้ยื่นคำคัดค้านใหม่ว่า ผู้ร้องไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นดำเนินคดีอย่างมีข้อพิพาท เรียกร้องเป็นโจทก์ และผู้คัดค้านเป็นจำเลย เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ จำเลยยื่นคำร้องขอเพิ่มคำคัดค้านโดยขอเป็นผู้จัดการมรดกด้วย ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต เมื่อสืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว พิพากษาแต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ตั้งประประเด็นว่าจำเลยมีคุณสมบัติ สมควรเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้เป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยมีพยานหลักฐานแสดงว่าจำเลยบุตรผู้ตาย ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องบุตรด้วยพร้อมกับให้จำเลยมีโอกาสเป็นผู้จัดการร่วมกับโจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยมิได้มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในประเด็นเรื่องจำเลยเป็นบุตรของโจทก์และเจ้ามรดกและพิพากษายกอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบ เพราะการที่จำเลยอุทธรณ์ขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยเป็นบุตรเจ้าของมรดกและตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกร่วมด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เดิมจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านโดยขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หรือร่วมกับโจทก์ แล้วต่อมาจำเลยขอถอนคำร้องคัดค้านนี้ว่าจะไปยื่นคำร้องใหม่ เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้คืนคำร้องนี้ไป คำร้องคัดค้านนี้ก็หมดไป และต่อมาครั้งที่สองจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาใหม่และคัดค้านว่าโจทก์ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นจึงสั่งดำเนินคดีมีข้อพิพาทและกำหนดประเด็นไว้เพียงว่า โจทก์สมควรเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้น จำเลยหาได้คัดค้านอย่างใดไม่เมื่อสืบพยานโจทก์ไม่หมดแล้ว จำเลยจึงมายื่นคำร้องคัดค้านเพิ่มเติมขอเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านที่เพิ่มเติมอีก ประเด็นเดิมก็คงมีเพียงว่าโจทก์สมควรเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้น จำเลยจะมาโต้เถียงว่าประเด็นเดิมที่ขอร่วมเป็นผู้จัดการมรดกยังมีอยู่อีกหาได้ไม่ การที่ศาสชั้นต้นยอมให้จำเลยสืบพยานจำเลยไปก็เพื่อให้สืบพยานตามคำร้องคัดค้านขอบจำเลยที่ยื่นเข้ามาใหม่ในครั้งที่สองนั่นเอง เมื่อศาลอุทธรณ์สั่งยกอุทธรณ์ในเหตุที่จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านในเนื้อหาแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว เช่นนี้ถือได้ว่า ปัญหาที่จำเลยขอร่วมเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาย่อมไม่วินิจฉัยให้ ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่มีสาระอันควรรับวินิจฉัยต่อไป
ให้ยกฎีกาจำเลย