คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1455/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกในอัตราขั้นต่ำของกฎหมาย และลดโทษให้จำเลยสูงสุดถึงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษให้จำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 56 แม้ความผิดกระทงอื่นศาลล่างทั้งสองจะลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินกระทงละ 3 ปี ก็สมควรลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดกระทงอื่น ๆ ให้เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ควรลงโทษจำคุกความผิดกระทงหนึ่ง แต่ความผิดกระทงอื่น ๆ รอการลงโทษ เพราะจะเป็นการลักลั่นไม่เหมาะสม
สำหรับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี แม้ภายหลังจะได้ความว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้สมรสกับผู้เสียหายที่ 2 แต่ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุเกินกว่า 18 ปี แล้ว กรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 227 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก วรรคสาม, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุก 7 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 10 ปี รวมจำคุก 21 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษในความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารนั้น เห็นว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกในอัตราขั้นต่ำของกฎหมาย และลดโทษให้จำเลยสูงสุดถึงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย 3 ปี 6 เดือน จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษให้จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารอีกสองกระทงนั้น แม้ศาลล่างทั้งสองจะลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินกระทงละ 3 ปี ก็ตาม แต่เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการคุกคามทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็ก พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง และขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม ทั้งเมื่อศาลลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีเพราะไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษได้ก็ควรจะลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดกระทงอื่น ๆ ให้เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ควรลงโทษจำคุกความผิดกระทงหนึ่ง แต่ความผิดกระทงอื่น ๆ รอการลงโทษ เพราะจะเป็นการลักลั่นไม่เหมาะสม ดังนั้น แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน แต่ก็ไม่ควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลยเช่นกัน นอกจากนี้สำหรับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีแม้ภายหลังจะได้ความว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้สมรสกับผู้เสียหายที่ 2 แต่ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุเกินกว่า 18 ปี แล้ว กรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคท้าย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share