แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขับขี่รถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายขับชลอตามรถจักรยานที่ผู้เสียหายขี่ จำเลยที่ 2 กระชากแขนผู้เสียหายล้มลงแล้วลงจากรถบีบคอกระชากสร้อยคอของผู้เสียหายกลับไปขึ้นรถที่จำเลยที่ 1 จอดติดเครื่องรออยู่บริเวณที่เกิดเหตุออกรถหนีย้อนกลับ ทางเดิมไปทันที จำเลยแบ่งหน้าที่กันทำเป็นตัวการชิงทรัพย์ทั้ง 2 คน
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 83, 78, ป.ว.1121 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 จำคุกจำเลยที่ 1 10 ปี จำเลยที่ 2 7 ปี6 เดือน ให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้าย เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 2 ลงจากรถชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำและพระนางกวักของนางสาวบัวแก้วฟองมูล ผู้เสียหายไป คดีมีข้อวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายร่วมกับจำเลยที่ 2ชิงทรัพย์ของผู้เสียหายหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 น่าเชื่อตามคำของนางสาวบัวแก้วผู้เสียหาย และนางสาวอำไพ ประจักษ์พยานโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 1ได้ขี่รถจักรยานยนต์ชะลอคุยไปกับผู้เสียหายและขี่รถแซงขึ้นไปคุยกับนางสาวอำไพและกลับชะลอรถมาคุยกับผู้เสียหายอีก จำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่าขับคู่กันไป15 เมตร จึงเกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถชะลอคู่ไปกับผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 2กระชากแขนผู้เสียหายจนรถจักรยานผู้เสียหายขี่ล้มลง แล้วจำเลยที่ 2 ได้กระโดดลงจากรถไปบีบคอแล้วกระชากสร้อยของผู้เสียหายนั้น จำเลยที่ 1 เห็นแต่ก็มิได้ห้ามปรามหรือขัดขวางจำเลยที่ 2 ประการใด กลับช่วยพาจำเลยที่ 2 หลบหนีทั้งผู้เสียหายยังร้องขอความช่วยเหลืออีก พฤติการณ์เช่นว่านี้เมื่อฟังประกอบกับคำรับของจำเลยที่ 1 ชั้นจับกุม และคำรับสารภาพชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.4, จ.7 และภาพถ่ายประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 ต้องได้ร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยกับจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดครั้งนี้แน่นอน มิฉะนั้นแล้วจำเลยที่ 1 คงไม่ติดเครื่องรถจักรยานยนต์รออยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ และการที่จำเลยที่ 1 ออกรถพาจำเลยที่ 2 หนีไปทันทีที่จำเลยที่ 2วิ่งมานั่งซ้อนท้ายและขับย้อนกลับไปทางเดิมนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมในการพาทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 เอาไปจากผู้เสียหายด้วย เข้าลักษณะแบ่งหน้าที่กันกระทำ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำความผิดด้วยกัน เป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่ขอให้ลดโทษจำเลยในสถานเบานั้น เห็นว่าโทษที่ศาลล่างทั้งสองลงมานั้นเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุให้ต้องแก้ไข”
พิพากษายืน