แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องกรณีลูกจ้างทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันนั้นได้ระบุเกี่ยวกับการพิจารณาลงโทษ ว่าอาจจะเป็นการว่ากล่าวด้วยวาจา ตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดค่าจ้าง ลดค่าจ้าง ให้พักงาน หรือให้ออกจากงานตามที่เห็นสมควรแสดงว่า ผู้ร้องมิได้กำหนดว่ากรณีลูกจ้างทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันเป็นกรณีร้ายแรงสถานเดียวจึงได้วางบทลงโทษเป็นลำดับขั้น ดังกล่าวตามที่เห็นสมควร เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองทะเลาะวิวาท ทำร้ายกับเพื่อนร่วมงาน โดยไม่ปรากฏว่าได้ก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้ร้องแต่อย่างใด แม้จะผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของ ผู้ร้องก็มิใช่กรณีร้ายแรงถึงขั้นที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้าน ทั้งสองได้ จึงยังไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน ทั้งสอง.
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกผู้คัดค้านตามลำดับสำนวนว่าผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2
ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2534ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกับพนักงานอื่นของผู้ร้องในบริเวณโรงงานขณะเป็นเวลาทำงานปกติ และเมื่อวันที่ 25กรกฎาคม 2534 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา ในขณะผู้คัดค้านที่ 2 ทำงานได้ทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันกับนายมานพ สุดใจ ในบริเวณโรงงานการกระทำของผู้คัดค้านทั้งสอง ทำให้เกิดความวุ่นวายโกลาหลในที่ทำงานของผู้ร้อง ทำให้พนักงานอื่น ๆ ของผู้ร้องหยุดทำงาน เป็นผลให้เสียหายในผลผลิตและยังเป็นการผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องข้อ 3.12 ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองโดยไม่จ่ายค่าชดเชย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านทั้งสองทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายกับพนักงานอื่นทำให้เกิดความวุ่นวายในบริเวณสถานที่ทำงาน ทำให้พนักงานอื่นต้องหยุดทำงานเพราะการกระทำดังกล่าว ทั้งเป็นการผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องนั้นไม่เป็นความจริง ผู้คัดค้านทั้งสองถูกกลั่นแกล้ง เพราะก่อนเกิดเหตุการณ์ตามคำร้อง ผู้คัดค้านทั้งสองได้ร่วมในการยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องจนมีการนัดหยุดงาน ต่อมาเมื่อคณะกรรมการลูกจ้างถอนข้อเรียกร้องและผู้คัดค้านทั้งสองกลับเข้าทำงาน ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ถูกนางประนอม เงื่อมัน ทำร้ายร่างกายส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ถูกนางประนอม เงื่อมัน และนายมานพ สุดใจทำร้ายร่างกาย นางประนอมและนายมานพเป็นลูกจ้างที่ไม่ได้ร่วมในการยื่นข้อเรียกร้อง ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นฝ่ายถูกทำร้าย จึงไม่ได้กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านทั้งสองกระทำผิดเพียงทะเลาะวิวาททำร้ายกัน เหตุเกิดบริเวณหน้าห้องน้ำซึ่งอยู่ใกล้กับแผนกถอดด้าย ไม่ปรากฏว่าการกระทำของผู้คัดค้านทั้งสองก่อให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างใด ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องในกรณีร้ายแรงนั้น ผู้ร้องไม่เห็นด้วย เพราะการกระทำผิดของพนักงานจนถึงขั้นก่อให้เกิดความเสียหายของแต่ละบริษัทย่อมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกิจการและความเหมาะสมเมื่อผู้ร้องกำหนดเป็นระเบียบแยกความผิดที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรงแล้วพนักงานยินยอมอยู่ในระเบียบดังกล่าว พนักงานก็ต้องอยู่ภายในระเบียบที่ผู้ร้องกำหนดขึ้น จะรอให้ได้รับความเสียหายก่อนจึงลงโทษเลิกจ้างย่อมไม่คุ้มกัน และตามระเบียบข้อบังคับกำหนดว่า การทะเลาะวิวาทเป็นกรณีร้ายแรง ขอให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองโดยไม่ต้องจต่ายค่าชดเชย เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านทั้งสองทะเลาะวิวาททำร้ายกับพนักงานอื่นของผู้ร้องแต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องจะผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องในกรณีร้ายแรงจนผู้ร้องอาจเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้หรือไม่นั้น มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเอกสารหมาย ร.4 ข้อ 6.12 ระบุว่า
“ลูกจ้างต้องไม่ทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันหรือกับบุคคลอื่นในบริเวณที่ทำงานหรือโรงงานที่นายจ้างจัดให้”
“ลูกจ้างผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกพิจารณาลงโทษโดยกล่าวด้วยวาจาตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดค่าจ้าง ลดค่าจ้าง ให้พักงาน หรือให้ออกจากงานตามที่เห็นสมควร” เช่นนี้ แสดงว่าผู้ร้องก็มิได้กำหนดว่ากรณีลูกจ้างทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันเป็นกรณีร้ายแรงสถานเดียว จึงได้วางบทลงโทษตั้งแต่กล่าวด้วยวาจา ตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดค่าจ้าง ลดค่าจ้าง ให้พักงาน จนถึงให้ออกจากงานตามที่เห็นสมควร ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านทั้งสองทะเลาะวิวาททำร้ายกับเพื่อร่วมงานที่บริเวณหน้าห้องหน้ำ และไม่ปรากฏว่าได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องแต่อย่างใด แม้จะผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องก็มิใช่กรณีร้ายแรงถึงขึ้นที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้ จึงยังไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง คำสั่งของศาลแรงงานกลางชอบแล้วอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.