คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1449/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 69 วรรคสาม มีระวางโทษหนักกว่า มาตรา 69 วรรคสอง หากวัตถุแห่งการกระทำความผิดเป็นฝิ่นซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ไม่เกิน 100 กรัม การที่โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยมีฝิ่นอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จำนวน 4 ห่อ น้ำหนัก 2.80 กรัม ไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้บรรยายว่าจำเลยมีฝิ่นดังกล่าวคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด ศาลจึงไม่อาจลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสามได้ เพราะจะเป็นการลงโทษเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องต้องห้ามตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๑๗, ๖๙, ๙๗, ๑๐๒ ป.อ. มาตรา ๙๑ ริบฝิ่นที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ เพิ่มโทษตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง, ๖๙ วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา ๙๐ แต่ความผิดทั้งสองฐานมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานจำหน่ายฝิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุก ๓ ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม มาตรา ๙๗ เป็นจำคุก ๔ ปี ๖ เดือน ริบฝิ่นที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๗ เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมธนบัตร ฉบับละ ๒๐ บาท จำนวน ๔ ฉบับ มีหมายเลขตรงกับที่ลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและสำเนาธนบัตรกับยึดฝิ่นจำนวน ๔ ห่อ น้ำหนักรวม ๒.๘๐ กรัม ที่ได้จากสายลับไว้เป็นของกลาง พยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันว่าได้รับแจ้งจากสายลับว่าจำเลยลักลอบจำหน่ายฝิ่นจึงวางแผนจับกุมโดยนำธนบัตรฉบับละ ๒๐ บาท จำนวน ๔ ฉบับ ไปลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและถ่ายสำเนาธนบัตรไว้ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและสำเนาธนบัตรเอกสารหมาย จ.๑ และ จ.๒ มอบธนบัตรให้สายลับไปล่อซื้อ โดยมีพันตำรวจตรีณรงค์ฤทธิ์กับสิบตำรวจเอกณรงค์ศักดิ์ซุ่มดูอยู่บริเวณป่าละเมาะริมหนองน้ำห่างไปประมาณ ๒๐ เมตร เห็นสายลับขณะเข้าไปล่อซื้อโดยเข้าไปติดต่อขอซื้อจากจำเลย สายลับและจำเลยต่างมอบของให้แก่กันหลังจากนั้นสายลับนำฝิ่นไปมอบให้นายดาบตำรวจวรสิทธิ์ที่รอรับของจากสายลับ พันตำรวจตรีณรงค์ฤทธิ์เข้าตรวจค้นจำเลยพบธนบัตรฉบับละ ๒๐ บาท จำนวน ๔ ฉบับ ซุกซ่อนอยู่ในกางเกงในของจำเลย พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยได้จำหน่ายฝิ่นจำนวน ๔ ห่อ ให้แก่สายลับไปในราคา ๘๐ บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายฝิ่นแต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๙ วรรคสาม นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีฝิ่นอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ จำนวน ๔ ห่อ น้ำหนัก ๒.๘๐ กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๗, ๖๙ เป็นการบรรยายฟ้องตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต” ซึ่งการจำหน่ายฝิ่นหรือมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีโทษตามมาตรา ๖๙ วรรคสอง โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ฝิ่นดังกล่าวคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด จึงไม่อาจลงโทษตามมาตรา ๖๙ วรรคสาม ซึ่งระวางโทษหนักกว่า มาตรา ๖๙ วรรคสอง และเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง, ๖๙ วรรคสอง ให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม มาตรา ๙๗ เป็นจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน และให้คืนเงิน ๘๐ บาท ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔

Share