คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1447/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องสอดเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลเรียกทรัพย์คืนโดยอ้างว่าเป็นสินบริคณห์ของโจทก์กับผู้ร้องสอด โจทก์เอาไปให้จำเลยโดยผู้ร้องสอดไม่รู้เห็นยินยอม แล้วผู้ร้องสอดขอถอนฟ้องในวันสืบพยานนัดแรก โดยแถลงต่อศาลว่าจะไม่นำคดีมาฟ้องจำเลยอีก ต่อมาโจทก์ฟ้องคดีนี้ขอแบ่งทรัพย์จากจำเลยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมซึ่งทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นรายเดียวกับคดีที่ผู้ร้องสอดเคยฟ้องจำเลย ผู้ร้องสอดได้ร้องสอดเข้ามาในคดีอีก ดังนี้ คำร้องสอดถือว่าเป็นคำฟ้อง ผู้ร้องสอดจึงไม่มีอำนาจร้องสอด(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2002/2511)
โจทก์กับผู้ร้องสอดเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาโจทก์ได้จำเลยเป็นภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนอีกคนหนึ่ง โจทก์ได้ออกเงินซื้อทรัพย์พิพาทโดยมีเจตนายกให้จำเลย เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนเมื่อมีบุตรเกิดขึ้น ดังนี้เมื่อโจทก์มีเจตนายกให้จำเลย จึงเรียกร้องทรัพย์พิพาทกึ่งหนึ่งจากจำเลยหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จำเลยเป็นภรรยาจนเกิดบุตร 1 คน จำเลยไม่มีทรัพย์สินอะไรมาก่อน โจทก์จัดหาทรัพย์สินต่าง ๆ 11 รายการคิดเป็นเงิน 378,000 บาทต่อมาโจทก์ไม่สามารถอยู่กินกับจำเลยได้จึงเลิกเป็นสามีภรรยากัน ทรัพย์ดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลย โจทก์ขอแบ่งในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคิดเป็นเงิน 189,000 บาท แต่จำเลยไม่ยอม จึงขอให้บังคับจำเลยแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง

จำเลยให้การว่า ทรัพย์สินตามฟ้องจำเลยหาซื้อมาด้วยเงินรายได้ของจำเลยเอง หากจะฟังว่าเป็นทรัพย์สินที่โจทก์หามา โจทก์ก็ซื้อให้จำเลยโดยเสน่หาและศีลธรรมอันดีงานในการได้เสียกับจำเลยและเกิดบุตรด้วยกัน โจทก์เรียกคืนไม่ได้

นางนินนายื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ได้จำเลยเป็นภรรยาน้อย และจำหน่ายสินบริคณห์ตามฟ้องให้เป็นของจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้อง ขออนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต

จำเลยให้การแก้คำร้องของผู้ร้องสอดว่า ผู้ร้องเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยโดยอ้างว่าโจทก์คดีนี้ผู้เป็นสามีได้ให้สินบริคณห์แก่จำเลยโดยเสน่หาผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นยินยอม ขอเรียกคืนจากจำเลย ในที่สุดผู้ร้องได้ขอถอนฟ้องและแถลงต่อศาลว่าจะไม่นำคดีมาฟ้องจำเลยใหม่อีก ฟ้องของผู้ร้องในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำร้องสอดไม่เป็นฟ้องซ้ำ ทรัพย์พิพาทจำเลยซื้อหามาเอง ไม่ใช่สินบริคณห์ของโจทก์กับผู้ร้องสอด ให้ยกฟ้องและคำร้องสอด

โจทก์กับผู้ร้องสอดอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยออกเงินซื้อทรัพย์พิพาทเมื่อซื้อแล้วโจทก์มีเจตนายกทรัพย์พิพาทให้จำเลย เป็นการยกให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473(3) โจทก์มีสิทธิจำหน่ายสินบริคณห์ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ร้องสอด โจทก์กับผู้ร้องสอดเรียกคืนไม่ได้ผู้ร้องสอดเคยฟ้องจำเลยและถอนฟ้องไปโดยไม่ติดใจฟ้องใหม่จึงไม่มีอำนาจร้องสอด พิพากษายืน ในผลที่ให้ยกฟ้องและคำร้องสอด

โจทก์กับผู้ร้องสอดฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องสอดฎีกาว่า ผู้ร้องสอดมีอำนาจร้องสอดศาลฎีกาเห็นว่าคดีก่อนผู้ร้องสอดซึ่งเป็นโจทก์ขอถอนฟ้งโดยแถลงต่อศาลว่า จะไม่นำคดีมาฟ้องอีก คำแถลงนี้จึงผูกมัดผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ซึ่งถือว่าเป็นคำฟ้องจึงไม่มีอำนาจร้องสอด ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2002/2511ระหว่างวัดวังตะกูโดยนายสี ใจกล้า ไวยาวัจการ ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์นายสมานบุญสนอง กับพวก จำเลย ฎีกาของผู้ร้องสอดฟังไม่ขึ้น

ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้ออกเงินซื้อทรัพย์พิพาทแต่ผู้เดียว ขอให้พิพากษาไปตามคำขอของฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่าระหว่างที่จำเลยยังเป็นภรรยาโจทก์นั้น จำเลยมีรายได้ของจำเลยเอง กล่าวคือขณะที่จำเลยรับราชการเป็นนางพยาบาลนั้นจำเลยมีเงินเดือน ๆ ละ 800 บาท และรับจ้างเฝ้าไข้นอกเวลาปฏิบัติราชการ พอ 1 ปีลาออกมาจำเลยก็มีรายได้จากการรับจ้างพยาบาลเฝ้าคนไข้และค้าขาย เฉพาะการรับจ้างเฝ้าไข้จำเลยเบิกความว่ามีรายได้เดือนละ 4,500 บาท ถึง 6,000 บาท บางครั้งฝ่ายคนไข้ใจดีก็ให้เงินเป็นพิเศษอีก โจทก์ก็เบิกความว่า จำเลยรับจ้างเฝ้าไข้ได้เงินวันละประมาณ100 บาท เมื่อจำเลยมีรายได้ของจำเลยเอง เช่นนี้ จึงน่าเชื่อว่าทั้งโจทก์และจำเลยได้ร่วมกันซื้อหาทรัพย์พิพาทด้วยกัน เพราะเป็นทรัพย์ที่อำนวยความสุขให้แก่โจทก์จำเลยด้วยกัน แต่ไม่อาจจะรู้ได้ว่าฝ่ายใดออกเงินเป็นจำนวนเท่าใดแต่ก็น่าคิดว่าโจทก์เป็นผู้ออกเงินมากกว่าจำเลย ปัญหาว่าโจทก์จะมีสิทธิเรียกทรัพย์พิพาทครึ่งหนึ่งจากจำเลยได้หรือไม่นั้น ปรากฏว่าเมื่อโจทก์จำเลยเลิกร้างกันและโจทก์ไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร 1 คน ที่เกิดด้วยกัน จำเลยร้องเรียนหัวหน้าคณะปฏิวัติให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร โจทก์ทำบันทึกลงวันที่ 14 มิถุนายน2515 ถึงเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี ตามเอกสารหมาย ล.16 มีใจความตอนหนึ่งว่า เมื่อโจทก์ได้จำเลยเป็นภรรยา โจทก์เกรงว่าจะเกิดบุตรด้วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นในภายหน้า โจทก์จึงซื้อที่ดิน 1 แปลง บ้าน 1 หลังและเคื่องใช้สอยมอบให้จำเลยเพื่อปฏิบัติตามความรับผิดชอบและศีลธรรมอันดีงาน ซึ่งโจทก์ก็เบิกความรับว่าได้ทำบันทึกเอกสารฉบับนี้จริง ตามบันทึกของโจทก์เช่นนี้น่าเชื่อว่า โจทก์ออกเงินซื้อทรัพย์พิพาทก็โดยมีเจตนายกให้จำเลยเพื่อไม่ให้เกิดความเดือนร้อนเมื่อมีบุตรเกิดขึ้น เมื่อโจทก์มีเจตนายกให้จำเลยเช่นนี้ โจทก์จึงเรียกร้องทรัพย์พิพาทครึ่งหนึ่งจากจำเลยไม่ได้

พิพากษายืน

Share