คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14466/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หนังสือบอกเลิกจ้าง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ระบุข้อเท็จจริงตามที่อ้างในฟ้องว่า ธ. เจตนาจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) ไว้ด้วย โจทก์จึงยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง) จึงไม่มีประเด็นดังกล่าวให้จำเลยต้องรับวินิจฉัย การที่ศาลแรงงานภาค 1 ไม่วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์จึงชอบแล้ว
การพิจารณาว่าโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง และ ป.พ.พ. มาตรา 583 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้วนายจ้างจะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง) มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้นแม้โจทก์ไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้าง โจทก์ก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ การที่ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษาโดยมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 1 ฟังยุติและข้อเท็จจริงในสำนวนที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งได้ความว่า ธ. เล่นเกมคอมพิวเตอร์ในระหว่างทำงาน โดยมีโปรแกรมเกมออนไลน์ Yol Gang อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของ ธ. การกระทำของ ธ. จึงเป็นการเอาเวลาทำงานไปกระทำกิจการอื่น อันเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต โจทก์จึงเลิกจ้าง ธ. ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคห้า (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 5/2550
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า นายธำรงค์เป็นลูกจ้างของโจทก์ เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2545 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นช่างซ่อมบำรุง ได้รับค่าจ้างเดือนละ 16,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2549 โจทก์มีหนังสือแจ้งฐานะพนักงานระบุว่านายธำรงค์ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน และให้นายธำรงค์ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ตามหนังสือแจ้งสถานะพนักงาน ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 โจทก์มีหนังสือเลิกจ้างนายธำรงค์เนื่องจากนายธำรงค์กระทำความผิดซ้ำคำเตือนตามหนังสือลงวันที่ 22 มิถุนายน 2549 ตามหนังสือเลิกจ้าง นายธำรงค์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยสอบสวนแล้วมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย 99,000 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 14,850 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 113,850 บาท แก่นายธำรงค์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ววินิจฉัยว่า หนังสือฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2549 ไม่มีข้อความใดที่ตักเตือนมิให้นายธำรงค์นำเวลาการทำงานไปเล่นเกมคอมพิวเตอร์และมิได้กล่าวถึงเรื่องการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ตามที่โจทก์อ้างในหนังสือเลิกจ้าง แต่อย่างใด หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือแจ้งการปรับฐานะของลูกจ้าง มิใช่หนังสือเตือนในเรื่องเกี่ยวกับการกระทำฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงนำมากล่าวอ้างในการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 119 (4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 การที่โจทก์เลิกจ้างนายธำรงค์โดยไม่มีหนังสือเตือนก่อนจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบ โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายธำรงค์ตามกฎหมาย และโจทก์เลิกจ้างนายธำรงค์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้นายธำรงค์ คำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามฟ้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำวินิจฉัยของจำเลยและศาลแรงงานภาค 1 มิได้หยิบยกประเด็นข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยและข้อกล่าวอ้างตามฟ้องของโจทก์ที่ว่านายธำรงค์แอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ระหว่างเวลาทำงานเป็นการที่ลูกจ้างเจตนาจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากเป็นผลทำให้ระบบควบคุมและระบบประมวลผลการทำงานโดยรวมของเครื่องคอมพิวเตอร์ในสำนักงานช้าลง และเกิดความเสียหายแก่ระบบการทำงานดังกล่าว อันเป็นข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) ที่โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างขึ้นวินิจฉัย คงหยิบยกเพียงประเด็นที่ว่านายธำรงค์แอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์ระหว่างเวลาทำงาน อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ขึ้นวินิจฉัยนั้น เห็นว่า ตามหนังสือบอกเลิกจ้างไม่ปรากฏว่าโจทก์ระบุข้อเท็จจริงตามที่อ้างในฟ้องว่านายธำรงค์เจตนาจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) ไว้ด้วยแต่อย่างใด โจทก์จึงยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง จึงไม่มีประเด็นดังกล่าวให้จำเลยต้องรับวินิจฉัย การที่ศาลแรงงานภาค 1 ไม่วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์จึงชอบแล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยว่าโจทก์เลิกจ้างนายธำรงค์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้นายธำรงค์ด้วย โดยศาลแรงงานกลางภาค 1 มิได้แจ้งรายละเอียดเหตุผลประกอบข้อวินิจฉัยดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ และโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้วนายจ้างจะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง) มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้นแม้โจทก์ไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้าง โจทก์ก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ การที่ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษาโดยมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อพิเคราะห์จากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 1 ฟังยุติและข้อเท็จจริงในสำนวนที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งแล้วได้ความว่านายธำรงค์เล่นเกมคอมพิวเตอร์ในระหว่างทำงาน โดยมีโปรแกรมเกมออนไลน์ Yol Gang อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของนายธำรงค์ การกระทำของนายธำรงค์จึงเป็นการเอาเวลาทำงานไปกระทำกิจการอื่น อันเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต โจทก์จึงเลิกจ้างนายธำรงค์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคห้า (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง) อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 5/2550 ในส่วนค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 1

Share