คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1446/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่1อนุมัติให้โจทก์ยืมชื่อจำเลยที่1ก็เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการก่อสร้างอาคารและจัดจำหน่ายอาคารในนามของจำเลยที่1การกระทำของโจทก์กับจำเลยที่1ดังกล่าวจึงเป็นการรู้เห็นร่วมกันเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารและจัดจำหน่ายในนามของจำเลยที่1อันเป็นการประกอบธุรกิจการค้าหรือประกอบวิสาหกิจในนามของจำเลยที่1ซึ่งตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้าพ.ศ.2509มาตรา22กำหนดห้ามมิให้สมาคมการค้ากระทำการ(1)ประกอบวิสาหกิจโดยสมาคมการค้านั้นเองดังนี้เมื่อจำเลยที่1เป็นสมาคมการค้าจึงต้องห้ามมิให้ประกอบวิสาหกิจโดยสมาคมการค้านั้นเองวิธีการของโจทก์กับจำเลยที่1จึงเห็นชัดว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวอันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อห้ามมิให้สมาคมการค้าดำเนินการใดๆที่จะเป็นผลกระทบกระเทือนการคาเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศไทยจึงเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนการกระทำของโจทก์กับจำเลยที่1จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา150ดังนั้นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนกันจึงไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ต่อกันและเป็นการกระทำที่เสียเปล่าโจทก์กับจำเลยที่1ยังคงอยู่ในฐานะเดิมเหมือนมิได้มีการกระทำดังกล่าวต่อกันเลยข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1หาใช่สัญญาต่างตอบแทนที่จะมีผลบังคับกันได้ไม่โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสิบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบร่วมกันและแทนกันใช้เงินให้แก่โจทก์ จำนวน 93,758,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และห้ามจำเลยทั้งสิบและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับอาคารของโจทก์ กับมิให้ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับโครงการศูนย์การค้าอุตสาหกรรมขนาดย่อมหยุดรับเงินค่าขายอาคารและสิทธิการเช่าตามฟ้องทั้งสิ้น หยุดขัดขวางการที่โจทก์จะดำเนินการก่อสร้าง ขายอาคารและสิทธิการเช่าอาคารส่วนที่เหลืออีกจำนวน 101 คูหา
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำบอกกล่าวถอนฟ้องจำเลยที่ 5ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโครงการศูนย์การค้าอุตสาหกรรมขนาดย่อม โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีสัญญาต่างตอบแทนกัน จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 8 และที่ 9 เป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างอาคารโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ลงทุนแต่อย่างใด โจทก์ไม่เสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทสมาคมการค้าตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 มาตรา 11 จำเลยที่ 1เป็นผู้เช่าที่ดินก่อสร้างอาคารศูนย์การค้าอุตสาหกรรมขนาดย่อมจากการรถไฟแห่งประเทศไทย คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์หลายประการสมควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ว่าข้อเสนอของโจทก์ต่อจำเลยที่ 1 ที่ขอเข้าทำโครงการอาคารศูนย์การค้าอุตสาหกรรมขนาดย่อมโดยขอยืมชื่อจำเลยที่ 1 มาใช้ และจะตอบแทนจำเลยที่ 1 ด้วยการให้เงิน 300,000 บาท กับอาคารที่จะก่อสร้างในโครงการดังกล่าวจำนวน 4 คูหา พร้อมด้วยผลประโยชน์อื่นอีก จำเลยที่ 1 ตอบรับตามที่ปรากฏในรายงานการประชุมของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.2ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาต่างตอบแทนกันแล้วหรือไม่เสียก่อน เห็นว่า เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การค้าอุตสาหกรรมขนาดย่อมตามที่บันทึกไว้ในรายงานประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.2 นั้น ได้ความว่า โจทก์เสนอต่อที่ประชุมกรรมการจำเลยที่ 1 ขอเข้าทำโครงการก่อสร้างอาคารดังกล่าวโดยขอยืมชื่อจำเลยที่ 1 มาใช้ โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบในด้านการลงทุนการก่อสร้าง การจัดจำหน่าย และอื่น ๆ อีก ที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ลงมติตามที่โจทก์เสนอ ดังนี้ ลักษณะที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้โจทก์ยืมชื่อจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการก่อสร้างอาคารและจัดจำหน่ายตามที่โจทก์เสนอขอยืมนั้นก็เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการก่อสร้างอาคารและจัดจำหน่ายอาคารดังกล่าวในนามของจำเลยที่ 1 การกระทำของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการรู้เห็นร่วมกันเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารและจัดจำหน่ายอาคารในนามของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจการค้าหรือประกอบวิสาหกิจในนามของจำเลยที่ 1 นั่นเอง พระราชบัญญัติสมาคมการค้าพ.ศ. 2509 มาตรา 22 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้สมาคมการค้ากระทำการใด ๆดังต่อไปนี้ (1) ประกอบวิสาหกิจโดยสมาคมการค้านั้นเอง หรือ ฯลฯ”จำเลยที่ 1 เป็นสมาคมการค้าจึงต้องห้ามมิให้ประกอบวิสาหกิจโดยสมาคมการค้านั้นเอง การกระทำของโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยวิธีการที่กล่าวมาแล้วเห็นได้ชัดว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวอันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อห้ามมิให้สมาคมการค้าดำเนินการใด ๆ ที่จะเป็นผลกระทบกระเทือนการค้า เศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศจึงเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การกระทำของโจทก์กับจำเลยที่ 1 เช่นนั้นตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 (เดิม)(มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่) และศาลฎีกามีอำนาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246, 247 ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้โจทก์ยืมชื่อจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการก่อสร้างอาคารและจัดจำหน่ายอาคารดังกล่าวในนามของจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนกันจึงไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์เช่นนั้นต่อกันและเป็นการกระทำที่เสียเปล่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังคงอยู่ในฐานะเดิมเหมือนมิได้มีการกระทำดังกล่าวต่อกันเลย ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวหาใช่สัญญาต่างตอบแทนที่จะมีผลบังคับกันได้ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ และเนื่องจากเหตุผลดังวินิจฉัยมาแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจและสิทธิดำเนินการเกี่ยวกับอาคารศูนย์การค้าอุตสาหกรรมขนาดย่อมดังกล่าวตั้งแต่แรกแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1ทำผิดสัญญาและจำเลยทั้งสิบทำละเมิดต่อโจทก์เกี่ยวกับอาคารศูนย์การค้าอุตสาหกรรมขนาดย่อมก็ดีและโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาและจำเลยทั้งสิบทำละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าวก็ดี จึงไม่อาจรับฟังได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสิบ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในปัญหาอื่นอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share