คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ยกที่พิพาทให้ ศ. แต่เป็นการขายที่พิพาทให้ ช. โดยให้ ศ. ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์ทำนิติกรรมอำพรางต้องบังคับตามนิติกรรมซื้อขายที่ถูกอำพราง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 155 วรรคสอง นิติกรรมยกให้เป็นการแสดงเจตนาลวงย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาของนางศรีคาม น้อยติ เจ้ามรดกจำเลยเป็นบุตรผู้เยาว์ของเจ้ามรดก เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2531 มีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 12027 เนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 22 7/10 ตารางวาซึ่งเจ้ามรดกได้รับยกให้จากโจทก์ที่ 1 ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายชวา น้อยติ สามีเจ้ามรดกเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก นายชวาได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้จำเลยในวันที่ 17ตุลาคม 2533 แล้วจึงถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีส่วนแบ่งในที่พิพาทคนละ 1 ใน 3 ส่วน เป็นเนื้อที่คนละ 4 ไร่ 1 งาน 75 2/10 ตารางวาโจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยแบ่งที่พิพาทให้แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ทั้งสอง 2 ใน 3 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 48 4/10 ตารางวา ถ้าไม่สามารถแบ่งได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสอง

จำเลยให้การว่า ที่พิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก แต่เป็นทรัพย์มรดกของนายชวา น้อยติ บิดาจำเลย โดยโจทก์ที่ 1 ขายที่พิพาทให้นายชวาในราคา 130,000 บาทแล้วนำเงินไปไถ่จำนองที่พิพาทซึ่งจำนองไว้กับธนาคารเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2530 แต่นายชวาให้เจ้ามรดกลงชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินไว้แทน โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิในที่พิพาท จำเลยรับมรดกที่พิพาทเมื่อปี 2533 โจทก์ทั้งสองฟ้องเกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ โจทก์ทั้งสองอ้างเหตุว่าโจทก์ที่ 1 ได้ยกที่พิพาทให้นางศรีคามน้อยติ เจ้ามรดกตามเอกสารหมาย จ.9 จึงเป็นสินส่วนตัวของนางศรีคาม ไม่ใช่สินสมรสที่จะตกได้แก่นายชวา น้อยติ สามีกึ่งหนึ่ง โจทก์ทั้งสองอ้างตนเองเบิกความว่า เดิมที่พิพาทเป็นของโจทก์ที่ 1 ได้จำนองไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เมื่อไถ่จำนองแล้วได้ยกให้นางศรีคาม ตามเอกสารหมาย จ.9 แต่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความแตกต่างกัน กล่าวคือ โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า เงินจำนวน 100,000 บาท ที่นำไปไถ่จำนองนั้นเป็นเงินของโจทก์ที่ 1 ส่วนโจทก์ที่ 2 กลับเบิกความว่า เงินจำนวน 100,000 บาท ที่ใช้ไถ่จำนองนั้นเป็นเงินของโจทก์ที่ 2 นอกจากนี้พยานทั้งสองยังเบิกความขาดเหตุผลอีกด้วยกล่าวคือ โจทก์ที่ 1 มีที่พิพาทเพียงแปลงเดียวได้ยกให้นางศรีคามบุตรสาวคนโตซึ่งมีฐานะดีกว่าบุตรคนอื่นอีก 4 คน ซึ่งปรากฏว่ามีฐานะพอกินพอใช้ ทั้งการโอนให้ที่พิพาทแก่นางศรีคามกระทำในวันเดียวกับวันไถ่ถอนจำนองเป็นพิรุธว่าเป็นการโอนให้โดยมีค่าตอบแทนคือเป็นการซื้อขายดังที่จำเลยนำสืบข้อนำสืบของจำเลยที่ว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ยกที่พิพาทให้นางศรีคาม แต่เป็นการขายให้นายชวาสามีนางศรีคามมีเหตุผลน่าเชื่อมากกว่า เพราะนายชวาและนางศรีคามมีฐานะดีมีความสามารถที่จะชำระหนี้จำนวน 100,000 บาทแทนโจทก์ที่ 1 ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ได้ขายที่พิพาทให้นายชวา ไม่ได้ยกที่พิพาทให้นางศรีคามแต่ประการใด ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น โจทก์ทั้งสองอ้างเหตุผลอีกประการหนึ่งว่าสัญญายกให้ที่พิพาทได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานจำเลยไม่มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบหักล้างพยานโจทก์ได้ เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยที่ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ยกที่พิพาทให้นางศรีคาม แต่เป็นการขายที่พิพาทให้นายชวา โดยให้นางศรีคามถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนนั้น เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์ที่ 1ได้ทำนิติกรรมยกให้อำพรางนิติกรรมการซื้อขายต้องบังคับตามนิติกรรมซื้อขายที่ถูกอำพรางไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง นิติกรรมการยกให้เป็นการแสดงเจตนาลวงย่อมตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์เช่นนี้ จำเลยจึงนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย”

พิพากษายืน

Share