แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) มีลักษณะเป็นคำฟ้องตามมาตรา 1 (3) จึงต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามมาตรา 172 วรรคสอง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดโดยอ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตาย จำเลยม่มีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของผู้ตายเนื่องจากคดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป้นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องสอดกับพวกได้ยื่นคำร้องคัดค้านและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา โจทก์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวและได้ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการจัดตั้งมูลนิธิของผู้ร้องสอดเพื่อมิให้ผู้ร้องสอดมีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่อาจรับมรดกตามพินัยกรรม ซึ่งจะทำให้โจทก์และจำเลยสมยอมกันจัดแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และคู่ความขอให้ศาลไกล่เกลี่ยเพื่อประนีประนอมยอมความต่อกันหากศาลมีคำพิพากษาตามยอมจะเป็นผลเสียหายแก่ผู้ร้องสอด จึงเป็นกรณีจำเป็นเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความนั้น เป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (1) ซึ่งถือว่าเป็นคำฟ้อง เมื่อคำร้องสอดไม่มีคำขอบังคับโดยชัดแจ้ง จึงเป็นคำร้องสอดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และพันตรีหญิงสินเสริม เลขะวณิช ผู้ตายได้ร่วมกันประกอบกิจการมีรายได้ลทรัพย์สินหลายรายการ ทรัพย์สินบางส่วนโจทก์และผู้ตายถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และมีบางส่วนที่โจทก์ให้ผู้ตายครอบครองและถือกรรมสิทธิ์แทน ก่อนถึงแก่กรรมผู้ตายได้ทำพินัยกรรมโดยให้แยกทรัพย์สินส่วนของโจทก์ออกจากทรัพย์มรดกและคืนแก่โจทก์ แต่ผู้ตายถึงแก่กรรมแล้วจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของผู้ตายไม่ยอมคืนทรัพย์สินส่วนของโจทก์ให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และคืนธนบัตรเก่าจำนวน 935 ฉบับ แหวนทอง 2 วง และจี้ทับทิมขอบทอง 1 ชิ้น กับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 17102, 17106, 17107, 17573 และ 20609 ตำบลสระกระโจม อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนที่ผู้ตายถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง และกันส่วนที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 346 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ที่ดินโฉนดเลขที่ 20550, 23716 ถึง 23765 และ 40375 ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในส่วนที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ตาย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่รับรองว่าโจทก์ให้ผู้ตายถือทรัพย์สินตามฟ้องไว้แทน จำเลยไม่มีสิทธิโอนทรัพย์สินตามฟ้องให้แก่โจทก์เนื่องจากศษลยังไม่มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตาย จำเลยไม่มีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของผู้ตายเนื่องจากคดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายผู้ร้องสอดกับพวกได้ยื่นคำร้องคัดค้านและคดีอยู่ระหว่างพิจารณาโจทก์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวและได้ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการจัดตั้งมูลนิธิของผู้ร้องสอดเพื่อมิให้ผู้ร้องสอดมีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่อาจรับมรดกตามพินัยกรรม ซึ่งจะทำให้โจทก์และจำเลยสมยอมกันจัดแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และคู่ความขอให้ศาลไกล่เกลี่ยเพื่อประนีประนอมยอมความต่อกัน หากศาลมีคำพิพากษาตามยอมจะเป้นผลเสียหายแก่ผู้ร้องสอดจึงเป็นกรณีจำเป็นเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องสอด คืนค่าคำร้องให้แก่ผู้ร้องสอด
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสอดว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำร้องสอดไว้พิจารณานั้นชอบหรือไม่โดยผู้ร้องสอดฎีกาว่า ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) เมื่อศาลอนุญาตให้เข้าเป็นคู่ความแล้วผู้ร้องสอดจะอยู่ในฐานะเป็นจำเลยซึ่งจะต้องยื่นคำให้การฉบับใหม่เข้ามาในคดี คำร้องสอดของผู้ร้องสอดจึงไม่ต้องมีคำขอบังคับโดยชัดแจ้ง เห็นว่า คำร้องสามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) มีลักษณะเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1 (3) จึงต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดโดยอ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตาย จำเลยไม่มีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของผู้ตายเนื่องจากคดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องสอดกับพวกได้ยื่นคำร้องัดค้านและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาโจทก์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวและได้ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการจัดตั้งมูลนิธิของผู้ร้องสอดเพื่อมิให้ผู้ร้องสอดมีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่อาจรับมรดกตามพินัยกรรม ซึ่งจะทำให้โจทก์และจำเลยสมยอมกันจัดแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และคุ๋ความขอให้ศาลไกล่เกลี่ยเพื่อประนีประนอมยอมความต่อกันหากศาลมีคำพิพากษาตามยอมจะเป็นผลเสียหายแก่ผู้ร้องสอด จึงเป็นกรณีจำเป็นเพื่อให้ได้รับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความนั้น เป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (1) ซึ่งถือว่าเป็นคำฟ้อง ผู้ร้องสอดอยู่ในฐานะเป็ นโจทก์ ส่วนโจทก์เดิมและจำเลยอยู่ในฐานะเป็นจำเลย หากศาลมีคำสั่งรับคำร้องสอดของผู้ร้องสอดแล้ว ผู้ร้องสอดจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในฐานะเป็นโจทก์ผู้ร้อวสอดหาจำต้องยื่นคำให้การไม่เพราะมิได้อยาในฐานะเป้นจำเลยดังที่ผู้ร้องสอดเข้าใจ เมื่อคำร้องสอดดังกล่าวเป็นคำฟ้องแต่ไม่มีคำขอบังคับโดยชัดแจ้ง จึงเป็นคำร้องสอดที่ไม่ชอบด้วยกหมาย ที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำร้องสอดไว้พิจารณานั้นชอบแล้ว และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องสอดที่ว่า ผู้ร้องสอดต้องเสียค่าขึ้นศาลหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำใฟ้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของผู้ร้องสอดฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธนเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ