แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจาก ข. ผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่ง จึงไม่ใช่นิติกรรมที่ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงส่วนมาก ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1726 ย่อมไม่ผูกพันกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 การที่ ข. ให้ความยินยอมในภายหลังไม่ทำให้นิติกรรมที่ไม่ชอบกลับเป็นนิติกรรมสมบูรณ์ขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้จำเลยที่ 1 และ ข. ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขาย เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และ ข. ในภายหลังโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 ได้แจ้งยกเลิกการขายที่ดินพิพาทกับโจทก์แล้ว จึงไม่ใช่เป็นการกระทำที่ทำลงโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือสัญญาจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ถึงกำหนดจำเลยที่ ๑ ไม่ไปโอนที่ดินให้แก่โจทก์และได้ขอผัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำให้โจทก์เสียเปรียบและได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. ๓ ก.) ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แล้วให้จำเลยที่ ๑ ขายที่ดินให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑ หากจำเลยที่ ๑ ไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ได้ให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๘๐๐,๐๐๐ บาท แต่หากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับโอนที่ดินโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต ขอให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินมัดจำ ๒๐๐,๐๐๐ บาท และชดใช้ค่าเสียหาย ๘๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ในวันนัดโอนที่ดินจำเลยที่ ๑ ไปสำนักงานที่ดินแต่โจทก์ไม่มีเงินพร้อมที่จะชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ ๑ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ ๑ ชอบที่จะริบมัดจำได้ และโจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ โดยสุจริต จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ ๑ และนายขอเดะ โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตทั้งได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. ๓ ก) ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แล้วให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑ ให้โจทก์ชำระราคาที่ยังค้างอยู่ในวันจดทะเบียนโอนที่ดิน หากจำเลยที่ ๑ ไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายที่ดินแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินมัดจำจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาทและเบี้ยปรับอีก ๒๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของเงินมัดจำ ๒๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้อง และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของเบี้ยปรับ ๒๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ซึ่งสัญญาจะซื้อขายที่ดินหรือสัญญาวางมัดจำนั้น ไม่ได้ระบุว่าจำเลยที่ ๑ ผู้จะขายที่ดินพิพาททำสัญญาในฐานะผู้จัดการมรดก ทั้งที่จำเลยที่ ๑ ในขณะนั้นได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายหมะแล้ว จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทในนามส่วนตัว มิใช่กระทำในฐานะผู้จัดการมรดก ทั้งน่าเชื่อว่าในขณะทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทนั้นนายขอเดะผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งไม่ทราบเรื่องที่จำเลยที่ ๑ ไปทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จึงไม่ใช่นิติกรรมที่ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงส่วนมาก ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทายาทผู้อื่น ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๒๖ นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว จึงไม่มีผลผูกพันกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๒๔ ดังนี้ สัญญาจะซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเสียเปล่า การที่นายขอเดะผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งมาให้ความยินยอมในภายหลัง ย่อมไม่ทำให้นิติกรรมที่ไม่ชอบเสียแล้วกลับเป็นนิติกรรมสมบูรณ์ขึ้นภายหลัง โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้จำเลยที่ ๑ และนายขอเดะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทได้ เมื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ทำสัญญาซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ ๑ และนายขอเดะผู้จัดการมรดกร่วมในภายหลังโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนแล้ว ทั้งได้ความจากพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ ได้แจ้งยกเลิกการขายที่ดินพิพาทกับโจทก์แล้วก่อนที่จำเลยที่ ๑ และนายขอเดะจะทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ ๑ และนายขอเดะทำกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ใช่เป็นการกระทำที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำลงโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๓๗
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙.