แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาไปตามคำท้าของคู่ความมิใช่เป็นกรณีการพิจารณาโดยขาดนัดอันจะเป็นเหตุให้คู่ความร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา207ถ้าจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจวินิจฉัยไปตามคำท้าก็จะต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไปจะขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่24 พฤษภาคม 2534 ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2535 จำเลยทั้งหกร่วมกันหลอกลวงโจทก์โดยกล่าวเท็จแก่โจทก์ว่า จำเลยที่ 12 เรียนจบเปรียญธรรม 9 ประโยค จากประเทศอินเดีย และมีฤทธิ์เดชสามารถใช้วิชาอาคมตัดแร่กายสิทธิ์เหล็กไหล โจทก์หลงเชื่อจึงมอบเงินให้จำเลยทั้งหกไปหลายครั้ง รวมเป็นเงิน 523,500 บาท นอกจากนี้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2534 จำเลยทั้งหกหลอกลวงว่าสามารถฝากบุตรเข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมทหารได้ โดยโจทก์ต้องซื้อที่ดิน 1 แปลงรถไถนาเดินตามและรถซึ่งใช้ในการเกษตรให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2เป็นค่าตอบแทน ซึ่งความจริงจำเลยทั้งหกไม่สามารถฝากบุตรของโจทก์เข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมทหารได้ โจทก์หลงเชื่อว่าเป็นความจริงโจทก์ซื้อรถไถนาเดินตาม 1 คัน ราคา 44,500 บาท มอบให้จำเลยทั้งหกมอบเงินให้จำเลยที่ 1 จำนวน 30,000 บาท เพื่อซื้อที่ดิน 1 แปลงและซื้อรถใช้ในการเกษตร 1 คัน มอบให้จำเลยทั้งหก ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ วันที่ 20 กรกฎาคม 2534จำเลยทั้งหกหลอกลวงโจทก์โดยกล่าวเท็จว่าบิดาโจทก์ชื่อนายเพ็งนนยะโส ซึ่งตายไปแล้วได้รับทุกข์ทรมานตกนรก แต่จำเลยที่ 1สามารถช่วยได้โดยใช้จำนวนเงิน 100,000 บาท เพื่อไถ่บาปตามวิธีทางไสยศาสตร์ โจทก์ได้หลงเชื่อว่าเป็นความจริง ได้มอบเงินจำนวน 100,000 บาท ให้จำเลยทั้งหกไป วันที่ 24 สิงหาคม 2534ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2534 จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์โดยกล่าวเท็จว่าจำเลยที่ 1 มีดวงธรรมชั้นสูง หากโจทก์ต้องการเรียนธรรมดังกล่าวโจทก์ต้องชำระเงินค่าเรียนจำนวน 10,500 บาท โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบเงินจำนวน 10,500 บาท ให้จำเลยที่ 1 ไป วันที่ 23กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยทั้งหกหลอกลวงโจทก์โดยกล่าวเท็จว่าจำเลยที่ 1ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับลำไส้หากไม่รับการรักษาแล้วจะตายภายในวันที่ 28 มีนาคม 2535 ซึ่งถ้าโจทก์ช่วยค่ารักษาแล้วจะได้รับมอบพระสมเด็จหลายสิบองค์ และแร่กายสิทธิ์เป็นการตอบแทน โจทก์หลงเชื่อได้มอบเงินให้จำเลยที่ 1 ไปจำนวน 100,000 บาท รวมเป็นเงินและทรัพย์สินที่จำเลยทั้งหกหลอกลวงไปจากโจทก์จำนวน 838,500 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันคืนรถไถนาเดินตามเครื่องยนต์คูโบต้า 1 คัน ราคา 44,500 บาท รถยนต์ใช้ในการเกษตรแก่โจทก์ราคา 120,000 บาท หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาเป็นเงินจำนวน164,500 บาท และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนเงินจำนวน 674,000 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งหกจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งหกให้การว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2534โจทก์ติดต่อจำเลยที่ 1 ว่ามีชาวต่างประเทศติดต่อขอซื้อแร่กายสิทธิ์ที่โจทก์เรียกว่าเหล็กไหลจากโจทก์ และจำเลยที่ 2 มีแร่ดังกล่าวจึงขอซื้อจากจำเลยที่ 1 ในราคา 100 ล้านบาท ต่อน้ำหนักขอแร่15 กรัม โจทก์ขอดูเครื่องรางของขลังของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1ได้รับจากบุพการี โดยโจทก์ตั้งชื่อเครื่องรางของขลังนั้นว่าเหล็กไหล โจทก์ได้ตกลงให้ราคาแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน300 ล้านบาท และจะติดต่อชาวต่างประเทศเพื่อไปซื้อภายใน 1 ปีโดยจะวางเงินมัดจำให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 300,000บาท แต่ก็มิได้จ่ายเงินให้ และขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันไปหาเหล็กไหล โดยจะเป็นผู้พาจำเลยที่ 1 ร่วมกันไปหาเหล็กไหล โดยจะเป็นผู้พาจำเลยที่ 1ไปหาตามถ้ำต่าง ๆ แต่ในที่สุดไม่มีเหล็กไหลดังที่โจทก์อ้างจนถึงเดือนมิถุนายน 2535 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 หาเศียรเทวรูปและเศียรพระพุทธรูปซึ่งเป็นของเก่าให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จะเป็นผู้จำหน่ายแล้วนำเงินมาแบ่งให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เห็นว่าการกระทำของโจทก์ผิดศีลธรรมจึงไม่ตกลง โจทก์ไม่พอใจจึงฟ้องคดีนี้จำเลยทั้งหกไม่เคยหลอกลวงโจทก์และไม่เคยรับเงินจากโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน โจทก์และจำเลยทั้งหกท้ากันขอให้ศาลถือเอาคำพิพากษาในคดีอาญา ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงนครราชสีมาตามคดีหมายเลขดำที่ 2476/2535 เป็นข้อแพ้ชนะ โดยหากศาลแขวงนครราชสีมาวินิจฉัยว่าฝ่ายจำเลยไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์ยอมแพ้คดี ให้ถือข้อเท็จจริงตามคำให้การจำเลย แต่ถ้าศาลแขวงนครราชสีมาวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดพิพากษาลงโทษจำเลยจำเลยทั้งหกยอมแพ้โดยยอมชดใช้เงินตามฟ้อง ทั้งนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงเอาเพาะผลคำพิพากษาของศาลแขวงนครราชสีมาเท่านั้นโดยไม่เอาผลคดีถึงที่สุด ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เป็นไปตามคำท้าและต่อมาศาลแขวงนครราชสีมามีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2476/2535คดีหมายเลขแดงที่ 4489/2535 วินิจฉัยว่า จำเลยในคดีนั้นร่วมกันฉ้อโกงโจทก์พิพากษาลงโทษจำคุก ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีตามคำท้าให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนรถไถนาเดินตามเครื่องยนต์คูโบต้า 1 คัน ราคา 44,500 บาท รถยนต์ที่ใช้ในการเกษตรหมายเลขทะเบียน 1 ฮ-0531 นครราชสีมา แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาเป็นเงิน 164,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนเงินจำนวน 674,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งหกยื่นคำร้องว่า ผลของคำพิพากษาในทางอาญาที่จะถือเอาเป็นข้อแพ้หรือชนะคดีนั้นต้องเป็นผลของคำพิพากษาคดีถึงที่สุดไม่ใช่เพาะผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลเดียว เพราะหากคดีถึงที่สุดแล้วปรากฎว่า จำเลยในคดีนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกง ศาลสูงยกฟ้องแต่ไม่มีผลลบล้างคำพิพากษานี้ จึงเป็นการพิจารณาพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยทั้งหกมิได้ขาดนัดพิจารณาและไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ได้ ให้ยกคำร้องจำเลยทั้งหกอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 ว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงท้ากันขอให้ถือเอาคำพิพากษาในคดีอาญาซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงนครราชสีมาตามคดีหมายเลขดำที่ 2476/2535 เป็นข้อแพ้ชนะในคดีนี้ กล่าวคือหากศาลแขวงนครราชสีมาวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีความผิดพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยอมแพ้คดี แต่ถ้าหากศาลแขวงนครราชสีมาวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดพิพากษาลงโทษ จำเลยทั้งหกในคดีนี้ยอมแพ้คดีโดยยอมชดใช้เงินค่าเสียหายตามฟ้อง ทั้งนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงเอาเฉพาะผลคำพิพากษาของศาลแขวงนครราชสีมาเท่านั้นโดยไม่เอาผลคดีถึงที่สุด ต่อมาศาลแขวงนครราชสีมาวินิจฉัยว่าจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 2476/2535 แดงที่ 4489/2535 มีความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องของโจทก์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาคดีไปตามคำท้าของคู่ความดังกล่าว ให้จำเลยทั้งหกชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง จำเลยทั้งหกมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีจึงถึงที่สุด ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่โดยอ้างว่าคำท้าดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะคำพิพากษาศาลแขวงนครราชสีมาในคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาไปตามคำท้าของคู่ความในคดีนี้ มิใช่เป็นกรณีการพิจารณาโดยขาดนัดอันจะเป็นเหตุให้คู่ความร้องขอให้การมีพิจารณาใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ถ้าจำเลยทั้งหกเห็นว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจวินิจฉัยไปตามคำท้าก็จะต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไป จะขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งหกฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน