แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับห้องชุดพิพาทประจำปี 2540 ถึง 2549 ต่อกรุงเทพมหานครจำเลยตามกำหนดเวลาของกฎหมาย จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2548 สำหรับห้องชุดพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสอบสมุดทะเบียนภาษีโรงเรือนและที่ดินแล้วปรากฏว่าห้องชุดพิพาทยังไม่เคยมีการยื่นเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน คำให้การในตอนแรกนี้จำเลยเพียงแต่ต่อสู้ว่า โจทก์ยังมิได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเท่านั้น มิได้ต่อสู้ว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน นอกจากนี้จำเลยยังให้การต่อไปว่า ในเดือนธันวาคม 2549 สำนักงานเขตคลองเตยได้จัดกิจกรรมทำความสะอาดครั้งใหญ่จึงพบเอกสารแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ก่อนปีภาษี 2548 บางปี โดยจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินก่อนปีภาษี 2548 ที่พบเป็นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีใด และมิใช่ปี 2540 ถึง 2544 ที่พิพาทหรือไม่ คำให้การของจำเลยจึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบ ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับห้องชุดพิพาทประจำปีภาษี 2540 ถึง 2544 ต่อจำเลยตามกำหนดเวลาของกฎหมายแล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉันว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2540 ถึง 2544 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีภาษีหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะอุทธรณ์ตามกฎหมาย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีพิพาทภายในกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 19 แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องประเมินค่ารายปีและค่าภาษีแจ้งไปยังโจทก์ภายใน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ ไม่ว่าการประเมินนั้นจะเป็นเพราะโจทก์แจ้งค่ารายปีไม่ถูกต้อง หรือมีทรัพย์สินบางรายการต้องนำมาคำนวณเพิ่มเติม หรือเพราะโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ถูกต้อง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยยังมิได้ดำเนินการประเมิน
สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรแม้จะมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 แต่การที่จำเลยจะใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโจทก์ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการแจ้งรายการประเมินไปยังโจทก์ก่อน การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งรายการประเมินไปยังโจทก์ย้อนหลังเกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้าของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีภาษีพิพาทที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้เป็นการประเมินเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (2) เป็นผลให้การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดยืนตามการประเมินของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลยแม้จะยังไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด “พร้อมสุข” เลขที่ 45/28 แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร และห้องชุด “ร่วมสุข” เลขที่ 12/3 เลขที่ 12/7 เลขที่ 12/8 และเลขที่ 12/54 หรือ 45 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย สำนักงานเขตคลองเตยเป็นหน่วยงานในสังกัดของจำเลย มีหน้าที่ประเมินและจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในพื้นที่ของสำนักงานเขตคลองเตย โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับห้องชุดดังกล่าวประจำปีภาษี 2540 ถึงปีภาษี 2549 ต่อจำเลยตามเวลาที่กฎหมายกำหนด ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2550 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีหนังสือแจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับห้องชุดเลขที่ 45/28 ประจำปีภาษี 2541 ถึง 2549 เป็นเงินค่าภาษีปีละ 73,500 บาท ห้องชุดเลขที่ 12/3 กำหนดค่าภาษีประจำปีภาษี 2540 เป็นเงิน 45,937.50 บาท ปีภาษี 2541 เป็นเงิน 32,812.50 บาท ปีภาษี 2543 เป็นเงิน 32,812.50 บาท ปีภาษี 2544 เป็นเงิน 72,187.50 บาท ปีภาษี 2545 ถึง 2548 เป็นเงินปีละ 78,750 บาท ปีภาษี 2549 เป็นเงิน 39,375 บาท ห้องชุดเลขที่ 12/7 กำหนดค่าภาษีประจำปีภาษี 2541 เป็นเงิน 82,500 ปีภาษี 2542 เป็นเงิน 94,125 บาท ปีภาษี 2543 เป็นเงิน 7,875 บาท ปีภาษี 2544 เป็นเงิน 86,625 บาท ปีภาษี 2545 เป็นเงิน 55,125 บาท ปีภาษี 2546 เป็นเงิน 63,000 บาท ปีภาษี 2548 เป็นเงิน 94,500 บาท ปีภาษี 2549 เป็นเงิน 55,125 บาท ห้องชุดเลขที่ 12/8 กำหนดค่าภาษีประจำปีภาษี 2542 เป็นเงิน 36,250 บาท ปีภาษี 2543 และ 2544 เป็นเงินปีละ 87,000 บาท ปีภาษี 2545 เป็นเงิน 58,000 บาท ปีภาษี 2546 และ 2547 เป็นเงินปีละ 87,000 ปีภาษี 2548 เป็นเงิน 50,750 บาท ปีภาษี 2549 เป็นเงิน 87,000 บาท ห้องชุดเลขที่ 12/54 หรือ 45 กำหนดค่าภาษีประจำปีภาษี 2543 เป็นเงิน 26,250 บาท ปีภาษี 2544 เป็นเงิน 105,000 บาท ปีภาษี 2545 เป็นเงิน 35,000 ปีภาษี 2546 เป็นเงิน 70,000 บาท ปีภาษี 2548 เป็นเงิน 52,500 บาท ปีภาษี 2549 เป็นเงิน 105,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่ได้รับแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยแล้ว แต่โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินจึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาประกอบการประเมินใหม่ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 โจทก์ได้รับใบแจ้งคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งชี้ขาดยืนตามการประเมิน โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตามกำหนดเวลา ซึ่งตามกฎหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยต้องดำเนินการประเมินภาษีโดยไม่ชักช้า แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ทำการประเมินภาษีโรงเรือนย้อนหลังเกิน 5 ปี ซึ่งขัดต่อมาตรา 24 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 จำเลยจึงต้องคืนค่าภาษีของห้องชุดเลขที่ 45/28 ประจำปีภาษี 2541 ถึง 2544 รวม 4 ปี เป็นเงิน 294,000 บาท ห้องชุดเลขที่ 12/3 ประจำปีภาษี 2540 ปีภาษี 2541 ปีภาษี 2543 และปีภาษี 2544 รวม 4 ปี เป็นเงิน 138,750 บาท ห้องชุดเลขที่ 12/7 ประจำปีภาษี 2541 ถึง 2544 รวม 4 ปี เป็นเงิน 271,125 บาท ห้องชุดเลขที่ 12/8 ประจำปีภาษี 2542 ถึง 2544 รวม 3 ปี เป็นเงิน 210,250 บาท ห้องชุดเลขที่ 12/54 หรือ 45 ประจำปีภาษี 2543 และ 2544 รวม 2 ปี เป็นเงิน 131,250 บาท รวมทั้งสินเป็นเงิน 1,045,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าภาษีดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 มกราคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลย ขอให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนสำหรับห้องชุดเลขที่ 45/28 ประจำปีภาษี 2541 ถึง 2544 ห้องชุดเลขที่ 12/3 ประจำปีภาษี 2540 ถึง 2544 ห้องชุดเลขที่ 12/7 ประจำปีภาษี 2541 ถึง 2544 ห้องชุดเลขที่ 12/8 ประจำปีภาษี 2542 ถึง 2544 ห้องชุดเลขที่ 12/54 หรือ 45 ประจำปีภาษี 2543 และ 2544 และใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2550 กับให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 1,045,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2548 สำหรับโรงเรือนตามฟ้องต่อจำเลย พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบสมุดทะเบียนภาษีโรงเรือนและที่ดิน แล้วปรากฏว่าโรงเรือนดังกล่าวยังไม่เคยยื่นเสียภาษี จึงได้ขอเอกสารต่างๆ เช่น หนังสือสัญญาซื้อขาย สำเนาทะเบียนบ้าน และหนังสือสัญญาเช่า เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน แต่โจทก์ไม่ส่งเอกสารดังกล่าวมาให้เป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถประเมินค่ารายปีและค่าภาษีได้ ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 โจทก์มายื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2549 สำหรับโรงเรือนตามฟ้องอีก พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ขอเอกสารต่างๆ เช่นเดียวกับปี 2548 แต่โจทก์ไม่ได้จัดส่งให้โดยอ้างว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเอกสารต่างๆ มาให้ในปีก่อนหน้านี้แล้ว และโจทก์ไม่มีเวลาจะค้นหาเอกสารให้เนื่องจากผ่านพ้นมาหลายปีแล้ว เป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถประเมินค่ารายปีและค่าภาษีได้ จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2549 สำนักงานเขตคลองเตยได้จัดกิจกรรมทำความสะอาดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรม 5 ส จึงได้พบเอกสารแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ก่อนปีภาษี 2548 บางปี ส่วนปีที่ไม่พบโจทก์ได้นำสำเนามาส่งให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบแบบ ภ.ร.ด.2 ดังกล่าว กับสมุดรับแบบ ภ.ร.ด.2 แล้ว ปรากฏไม่มีการลงรับแบบ ภ.ร.ด.2 ของโจทก์ทั้งหมดไว้แต่อย่างใด จึงได้ประเมินเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินย้อนหลังไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานการลงรับการยื่นแบบพิมพ์ ภ.ร.ด. ของโจทก์ในระบบสารบรรณของฝ่ายปกครองและฝ่ายรายได้สำนักงานเขตคลองเตย ตามระเบียบกรุมเทพมหานคร ว่าด้วยวิธีปฏิบัติงานสารบรรณ พ.ศ.2546 ข้อ 14 ประกอบกับประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หน่วยสารบรรณกลางของกรุงเทพมหานคร และหน่วยสารบรรณกลางของหน่วยงาน ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ข้อ 3 จึงถือว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบ ภ.ร.ด.2 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ตั้งแต่ปีภาษี 2540 ถึง 2544 การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยและคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าภาษีนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยนั้น หากศาลมีคำพิพากษาให้คืนเงินดังกล่าว จำเลยก็ต้องคืนให้โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หากไม่คืนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน นับจากวันที่คำพิพากษาถึงที่สุดตามมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือน ห้องชุดเลขที่ 45/28 ปีภาษี 2541 ถึง 2544 เลขที่ 12/3 ปีภาษี 2540, 2541, 2543 และ 2544 เลขที่ 12/7 ปีภาษี 2541 ถึง 2544 เลขที่ 12/8 ปีภาษี 2542 ถึง 2544 และเลขที่ 12/54 ปีภาษี 2543 และ 2544 และใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2550 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,045,375 บาท แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ถ้าไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 45/28 แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร และห้องชุดเลขที่ 12/3 เลขที่ 12/7 เลขที่ 12/8 และเลขที่ 12/54 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2540 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับห้องชุดดังกล่าว โดยให้โจทก์ชำระค่าภาษีสำหรับห้องชุดเลขที่ 45/28 ประจำปีภาษี 2541 ถึง 2549 เป็นเงินปีละ 73,500 บาท ห้องชุดเลขที่ 12/3 ประจำปีภาษี 2540 เป็นเงิน 45,937.50 ปีภาษี 2541 และ 2543 เป็นเงินปีละ 32,812.50 บาท ปีภาษี 2544 เป็นเงิน 72,187.50 บาท ปีภาษี 2545 ถึง 2548 เป็นเงินปีละ 78,750 บาท ปีภาษี 2549 เป็นเงิน 39,375 บาท ห้องชุดเลขที่ 12/7 ประจำปีภาษี 2541 เป็นเงิน 82,500 บาท ปีภาษี 2542 เป็นเงิน 94,125 บาท ปีภาษี 2543 เป็นเงิน 7,875 บาท ปีภาษี 2544 เป็นเงิน 86,625 บาท ปีภาษี 2545 เป็นเงิน 55,125 บาท ปีภาษี2546 เป็นเงิน 63,000 บาท ปีภาษี 2548 เป็นเงิน 94,500 บาท ปีภาษี 2549 เป็นเงิน 55,125 บาท ห้องชุดเลขที่ 12/8 ประจำปีภาษี 2542 เป็นเงิน 36,250 บาท ปีภาษี 2543 และ 2544 เป็นเงินปีละ 87,000 บาท ปีภาษี 2545 เป็นเงิน 58,000 บาท ปีภาษี 2546 และ 2547 เป็นเงินปีละ 87,000 บาท ปีภาษี 2548 เป็นเงิน 50,750 บาท ปีภาษี 2549 เป็นเงิน 87,000 และห้องชุดเลขที่ 1254 ประจำปีภาษี 2543 เป็นเงิน 26,250 บาท ปีภาษี 2544 เป็นเงิน 105,000 บาท ปีภาษี 2545 เป็นเงิน 35,000 บาท ปีภาษี 2546 เป็นเงิน 70,000 บาท ปีภาษี 2548 เป็นเงิน 52,500 บาท ปีภาษี 2549 เป็นเงิน 105,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 ถึง 22, 24 ถึง 47, 49 ถึง 75, 77 ถึง 106 และ 108 ถึง 134 ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 143 ถึง 145 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาแล้วมีคำสั่งชี้ขาดยืนตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามใบแจ้งคำชี้ขาดเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 172 ถึง 182 ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่ถูกประเมินให้แก่จำเลยแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์ยืนแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2540 ถึง 2544 สำหรับโรงเรือน พิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีภาษีหรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีนี้มีหน้าที่นำสืบว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2540 ถึง 2547 สำหรับห้องชุดพิพาทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่โจทก์ไม่ยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลภาษีอากรกลางจึงงดสืบพยานโจทก์ ขณะที่ฝ่ายจำเลยมีนางสาวทิพวรรณ เป็นพยานเบิกความสนับสนุนข้อเท็จจริงตามคำให้การ การที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ในปี 2540 ถึง 2549 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตคลองเตยภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีภาษีจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ถูกต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินต่อจำเลยตามตามกำหนดเวลาของกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับห้องชุดพิพาทประจำปีภาษี 2540 ถึง 2549 ต่อจำเลยตามกำหนดเวลาของกฎหมาย จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2548 สำหรังห้องชุดพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสอบสมุดทะเบียนภาษีโรงเรือนและที่ดิน (สมุดรับแบบ ภ.ร.ด. 2) แล้ว ปรากฏว่าห้องชุดพิพาทยังไม่เคยมีการยื่นเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน คำให้การในตอนแรกนี้จำเลยเพียงแต่ต่อสู้ว่า โจทก์ยังมิได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเท่านั้น จำเลยมิได้ต่อสู้ว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแต่อย่างใด นอกจากนี้จำเลยยังให้การต่อไปว่า ในเดือนธันวาคม 2549 สำนักงานเขตคลองเตยได้จัดกิจกรรมทำความสะอาดครั้งใหญ่จึงพบเอกสารแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ก่อนปีภาษี 2548 บางปี โดยจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินก่อนปีภาษี 2548 ที่พบเป็นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีใด และมิใช่ปีภาษี 2540 ถึง 2544 ที่พิพาทหรือไม่ คำให้การของจำเลยจึงไม่แสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วนเป็นคำให้การที่ไม่ชอบ ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับห้องชุดพิพาทประจำปี 2540 ถึง 2544 ต่อจำเลยตามกำหนดเวลาของกฎหมายแล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2540 ถึง 2544 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีภาษีหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะอุทธรณ์ตามกฎหมาย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีอำนาจประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2541 ถึง 2544 สำหรับห้องชุดเลขที่ 45/28 ปีภาษี 2540, 2541, 2543, 2544 สำหรับห้องชุดเลขที่ 45/28 ปีภาษี 2541 ถึง 2549 สำหรับห้องชุดเลขที่ 12/7 ปีภาษี 2542 ถึง 2542 สำหรับห้องชุดเลขที่ 12/8 ปีภาษี 2543 และ 2544 สำหรับห้องชุดเลขที่ 12/45 ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ขั้นตอนการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้นเริ่มจากผู้รับประเมินจะต้องยื่นแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 19 จากนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจพิจารณาแบบใบแจ้งรายการนี้ ถ้าเห็นจำเป็นก็ให้มีอำนาจสั่งให้ผู้รับประเมินแสดงรายการเพิ่มเติมให้ละเอียดยิ่งขึ้น และถ้าจะเรียกให้นำพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้อความในรายการนั้นก็เรียกได้ตามมาตรา 21 เมื่อดำเนินการไต่สวนตรวจตราเสร็จแล้ว มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะกำหนดประเภทแห่งทรัพย์สิน ค่ารายปีแห่งทรัพย์สิน และค่าภาษีที่จะต้องเสีย แล้วแจ้งไปยังพนักงานเก็บภาษีเพื่อให้แจ้งรายการประเมินไปยังผู้รับประเมินต่อไป แม้ความในมาตรา 24 จะมิได้บัญญัติถึงกำหนดระยะเวลาในการแจ้งรายการประเมินไปยังผู้รับประเมินไว้ แต่มาตรา 24 ทวิ ก็บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินและแจ้งการประเมินย้อนหลังให้ผู้รับประเมินเสียภาษีตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินได้หากปรากฏว่าผู้รับประเมินผู้ใดไม่ยื่นแบบพิมพ์แสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 19 หรือยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ โดยกรณียื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 24 ทวิ ย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา 19 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีที่พิพาทสำหรับห้องชุดพิพาทภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 19 แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องประเมินค่ารายปีและค่าภาษีแจ้งไปยังโจทก์ภายใน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ ไม่ว่าการประเมินนั้นจะเป็นเพราะโจทก์แจ้งค่ารายปีไม่ถูกต้อง หรือมีทรัพย์สินบางรายการต้องนำมาคำนวณเพิ่มเติม หรือเพราะโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ถูกต้อง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยยังมิได้ดำเนินการประเมินก็ตาม แม้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรจะมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 แต่การที่จำเลยจะใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโจทก์ในกรณีนี้ได้กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการแจ้งรายการประเมินไปยังโจทก์ก่อน การแจ้งรายการประเมินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงต้องกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งรายการประเมินไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2550 ตามใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่แนบกับเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 4, 7, 26, 29, 32, 51, 54, 57, 60, 79, 82, 91, 110, 113, 116 และ 119 การประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีที่พิพาทสำหรับห้องชุดของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการประเมินย้อนหลังเกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีภาษีพิพาทที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ เป็นการประเมินเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เป็นผลให้การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดยืนตามการประเมินของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2541 ถึง 2544 สำหรับห้องชุดเลขที่ 45/28 ปีภาษี 2540, 2541, 2543, 2544 สำหรับห้องชุดเลขที่ 12/3 ปีภาษี 2541 ถึง 2544 สำหรับห้องชุดเลขที่ 12/7 ปีภาษี 2542 ถึง 2544 สำหรับห้องชุดเลขที่ 12/8 ปีภาษี 2543 และ 2544 สำหรับห้องชุดเลขที่ 12/54 ให้แก่จำเลย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ