คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14 แห่ง พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526คือ ผู้ใดยื่นคำขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14 แล้ว จำเลยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอแม่จัน ในครั้งแรกโดยแจ้งข้อความและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จความผิดก็สำเร็จแล้วเมื่อจำเลยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ใหม่ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน จึงเป็นความผิดกรรมใหม่กระทงใหม่ ต่างกรรมต่างวาระกัน ไม่ใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว สัญชาติไต้หวันมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรม ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2536 เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามเข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งที่อำเภอแม่จันจังหวัดเชียงราย และจับกุมจำเลย กล่าวหาว่าจำเลยคือนายเลียว ชุง ฟู ชาวไต้หวันเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยปฏิเสธ อ้างว่าจำเลยคือนายยรรยงหรือยาลี อดีตทหารจีนคณะชาติซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การแปลงสัญชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2526 และแสดงบัตรประจำตัวประชาชนไทยออกให้ ณ ที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบนจังหวัดสมุทรสาคร
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายเลยว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ใคร ที่ไหน และผู้ที่จำเลยแจ้งเท็จนั้นเป็นนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือปลัดอำเภอหรือเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตามประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505เห็นว่า ความผิดตามมาตราที่โจทก์ฟ้องคือมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 นั้น กฎหมายเพียงแต่บัญญัติว่าผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใดยื่นคำขอมีบัตรโดยแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทย ฯลฯ ดังนั้น องค์ประกอบความผิดตามมาตรานี้คือผู้ใดยื่นคำขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้น หาใช่องค์ประกอบความผิดแต่อย่างใดไม่ ฉะนั้นที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ จึงครบองค์ประกอบความผิดมาตรา 14 นี้แล้วคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
ปัญหาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยบังอาจยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ใด ใครเป็นเจ้าหน้าที่นั้น มีหน้าที่อะไรและข้อความอันเป็นเท็จนั้นมีข้อสำคัญอย่างไร เห็นว่า แม้ในการบรรยายฟ้องตอนต้นโจทก์จะไม่ได้ระบุว่า จำเลยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใด แต่ในตอนท้ายของคำฟ้องแต่ละข้อก็ระบุไว้แล้วว่าเหตุเกิดที่ที่ว่าการอำเภออะไรบ้าง ซึ่งเมื่ออ่านโดยตลอดแล้วก็เข้าใจได้ว่า จำเลยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของที่ว่าการอำเภอที่ระบุชื่อไว้ในตอนท้ายของคำฟ้องแต่ละข้อนั่นเอง พนักงานเจ้าหน้าที่คือใคร มีหน้าที่อย่างไรเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา และสำหรับข้อความอันเป็นเท็จมีข้อสำคัญอย่างไรนั้น โจทก์ก็บรรยายไว้แล้วว่าเท็จตรงที่จำเลยเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย แต่แจ้งว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดโดยการแปลงสัญชาติเมื่อวันที่8 สิงหาคม 2526 และต่อมาได้มีการขอบัตรประจำตัวประชาชนเกิดขึ้น น่าจะถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันโจทก์ฟ้องวันที่ 23 ธันวาคม 2536 เกิน 10 ปี คดีจึงขาดอายุความ เห็นว่า วันที่ 8 สิงหาคม 2526 ยังไม่มีการกระทำความผิดอย่างใดของจำเลย เพียงแต่เป็นวันที่กระทรวงมหาดไทย ประกาศเรื่องการแปลงสัญชาติของนายยรรยงหรือยาลี อันเป็นประกาศที่จำเลยนำมาอ้างขอมีบัตรประจำตัวประชาชนในเวลาต่อมาตามฟ้องของโจทก์นั้น วันที่จำเลยเริ่มกระทำความผิดได้แก่วันที่จำเลยไปยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนที่ที่ว่าการอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย คือวันที่ 24 มิถุนายน 2528นับจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยฎีกามาในตอนท้ายของข้อเดียวกันนี้ว่าการกระทำตามฟ้องทั้งหมดเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เห็นสมควรวินิจฉัยภายหลัง เพราะหากฟังว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ก็ไม่จำต้องวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในเบื้องต้นต้องวินิจฉัยให้ได้ความเสียก่อนว่า จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับนายยรรยงหรือยาลี ผู้มีสัญชาติไทยโดยได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติตามที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่เพราะถ้าเป็นบุคคลคนเดียวกัน ก็ย่อมจะไม่เป็นความผิดตามฟ้องเนื่องจากมีสัญชาติไทยแล้ว ปัญหานี้โจทก์มีพันตำรวจตรีทวี สอดส่องผู้ร่วมจับกุมจำเลยเบิกความว่า นายโฮ เชา ฟันเจ้าพนักงานตำรวจสากลของประเทศไต้หวันได้นำหลักฐานเกี่ยวกับตัวจำเลย ได้แก่ ภาพถ่ายและสำเนาหมายจับตามเอกสารหมาย จ.2 มาให้ไว้ก่อน เมื่อเข้าจับกุมจำเลยที่บ้านซึ่งเป็นโรงชา ของจำเลยที่อำเภอแม่จันพบว่าจำเลยมีรูปลักษณะตรงกับภาพถ่าย และนายโฮ เชา ฟัน ซึ่งร่วมไปด้วยได้ชี้ให้จับกุมจำเลย จึงจับกุมมา จากการสอบสวนทราบว่าจำเลยได้ทำบัตรประจำตัวประชาชนโดยแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จว่าจำเลยมีสัญชาติไทย จึงแจ้งข้อหาคดีนี้เพิ่มเติมและแยกดำเนินคดีเป็น 2 สำนวน ต่อมาได้จัดให้มีการพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบ ปรากฏว่าลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยตรงกับลายพิมพ์นิ้วมือของนายเลียว ชุง ฟู และจากการตรวจสอบหลักฐานของนายยรรยงที่ให้ไว้แก่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปรากฏว่าลายพิมพ์นิ้วมือของนายยรรยงนั้น นิ้วชี้ด้านซ้ายของนายยรรยงพิการ ไม่ปรากฏในแผ่นลายพิมพ์นิ้วมือแต่ของจำเลยปรากฏว่านิ้วชี้ด้านซ้ายยังคงมีอยู่ จากภาพถ่ายปรากฏว่าจำเลยมีรูปร่างลักษณะตรงกับภาพถ่ายของนายเลียว ชุง ฟู แต่แตกต่างจากนายยรรยงและรูปร่างของจำเลยรวมทั้งสีผิวก็แตกต่างจากนายยรรยง หลักฐานต่าง ๆและข้อมูลของประเทศไต้หวันที่ส่งมาให้นั้นตรงกับจำเลยจึงเชื่อว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับนายเลียว ชุง ฟูซึ่งเป็นชาวไต้หวัน แต่เป็นคนละคนกับนายยรรยงและร้อยตำรวจโทเรืองเดช เพชรอุด เบิกความว่าพยานไปร่วมจับกุมจำเลยที่บ้านที่อำเภอแม่จันด้วย เมื่อพบตัวจำเลยนายโฮ เชา ฟัน ซึ่งร่วมไปด้วย ยืนยันว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับนายเลียว ชุง ฟู พยานจึงควบคุมตัวจำเลยในข้อหาเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่จำเลยแสดงหลักฐานการเป็นคนไทยโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งออกให้ที่จังหวัดสมุทรสาคร และพยานตอบคำถามค้านว่าขณะเข้าจับกุม จำเลยได้แสดงบัตรประจำตัวประชาชนทะเบียนบ้าน ราชกิจจานุเบกษา หลักฐานการเปลี่ยนชื่อและนามสกุลซึ่งเป็นเอกสารที่ทางราชการอำเภอแม่จันออกให้และพยานเบิกความอีกตอนหนึ่งว่า ภายหลังได้มีการสอบสวนรายละเอียดของบุคคลที่ได้สัญชาติตามราชกิจจานุเบกษาซึ่งฝ่ายทหารได้นำหลักฐาน ตำหนิรูปพรรณ ชื่อบิดามารดาและลายพิมพ์นิ้วมือของนายยรรยงผู้ได้สัญชาติมามอบให้แก่พนักงานสอบสวน และมีการส่งลายพิมพ์นิ้วมือที่ได้มานี้กับลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยไปให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจพิสูจน์แล้ว ปรากฏว่าแตกต่างกันกับมีพันตำรวจโทหญิงสุวิไล คุณาชีวะเบิกความว่า พยานเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือที่ส่งจากกองปราบปราม เป็นสำเนาลายพิมพ์นิ้วมือของนายยาลีตามเอกสารหมาย จ.5 จำนวน 1 แผ่น และสำเนาลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.6 จำนวน 5 แผ่น เปรียบเทียบกันแล้ว ผลการตรวจพบว่าไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของบุคคลคนเดียวกันจึงได้ทำรายงานการตรวจพิสูจน์ตามเอกสารหมาย จ.7 ส่งให้พนักงานสอบสวนนอกจากนี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอกประวุธ วงศ์สีนิลเบิกความว่า พยานได้ประสานงานกับกองบัญชาการทหารสูงสุดขอประวัติของนายยาลีหรือยรรยง จากข้อมูลเบื้องต้นของฝ่ายทหารทราบว่านายยาลียื่นเรื่องขอเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สาย พยานจึงเดินทางไปตรวจสอบที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองดังกล่าว พบหลักฐานการขอเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ภาพถ่ายของนายยาลีสำเนาภาพถ่ายลายพิมพ์นิ้วมือของนายยาลี พร้อมประวัติและตำหนิรูปพรรณ เจ้าหน้าที่ของด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สายได้มอบเอกสารและภาพถ่ายดังกล่าวตามหมาย ป.จ.1 ถึง ป.จ.4กับ ป.จ.6 (ศาลจังหวัดเชียงราย) และเอกสารหมาย จ.5 ให้พยานในเบื้องต้นพยานตรวจสอบพบว่าตามเอกสารหมาย จ.5นิ้วชี้ซ้ายของนายยาลีหรือยรรยงพิการ แต่นิ้วของจำเลยไม่พิการแม้แต่นิ้วเดียว จึงเชื่อว่านายยาลีหรือยรรยงกับจำเลยเป็นบุคคลคนละคนกันและจากผลการประสานงานกับฝ่ายทหารพยานได้รับประวัติของนายยาลีหรือยรรยงตั้งแต่ต้นก่อนที่จะได้รับพิจารณาให้แปลงสัญชาติเป็นไทย จนถึงมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามสำเนาหนังสือกองปราบปรามพร้อมเอกสารหมาย จ.10 ด้วย เห็นว่าพยานโจทก์เหล่านี้ล้วนแต่ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย เชื่อว่าต่างเบิกความตามความเป็นจริง ทั้งเอกสารที่ร้อยตำรวจเอกประวุธได้มาจากด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สายนั้นก็ตรงกับเอกสารเรื่องราวของนายยาลี อดีตทหารจีนคณะชาติ ที่กองบัญชาการทหารสูงสุดรวบรวมส่งให้พนักงานสอบสวน จึงเชื่อได้ว่าเป็นของนายยาลีคนเดียวกัน ประกอบกับตามผนวกที่ส่งมาพร้อมหนังสือลงวันที่ 20 ธันวาคม 2536 กองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้ดำเนินการรวบรวมรายชื่ออดีตทหารจีนคณะชาติเสนอกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการขอแปลงสัญชาติของบุคคลเหล่านี้มาตั้งแต่แรก หลักฐานที่มีอยู่และส่งมาให้พนักงานสอบสวนทั้งหมดนี้จึงเชื่อได้ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงตามผนวกดังกล่าวแจ้งว่านายยาลีเชื้อชาติว้า หมายเลขประจำตัวปี 2520 คือ 147701 และในปี 2523 ถึงปีที่ยื่นคำร้องขอรับใบสำคัญถิ่นที่อยู่ต่อด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สาย นายยาลีใช้เลขประจำตัว 147483 ซึ่งตรงกับเลขหมายที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายของนายยาลีในคำร้องขอรับใบสำคัญถิ่นที่อยู่ดังกล่าวนั้นจึงเชื่อว่านายยาลีผู้ได้สัญชาติไทยคือบุคคลในภาพถ่ายดังกล่าวซึ่งภาพถ่ายที่ได้มาจากด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สายคือภาพถ่ายในเอกสารหมาย ป.จ.1 และภาพถ่ายหมาย ป.จ.3มองเห็นได้ชัดเจนกว่า พิเคราะห์ภาพถ่ายดังกล่าวเปรียบเทียบกับภาพถ่ายของจำเลยที่มีอยู่ในสำนวนคดีนี้ทุกภาพแล้วเห็นได้ว่าไม่เหมือนกันเมื่อพิจารณาประกอบกับผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือของนายยาลีที่ส่งไปตรวจเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่กองพิสูจน์หลักฐานซึ่งได้ความว่าไม่เหมือนกัน และนายยาลีมี 9 นิ้ว ส่วนจำเลยมี 10 นิ้วด้วยแล้วเชื่อว่าจำเลยมิได้เป็นบุคคลคนเดียวกับนายยรรยงหรือยาลีผู้ได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยตามที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะไม่มีสิ่งใดตรงกันเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลายพิมพ์นิ้วมือซึ่งต้องถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นสิ่งที่มีอยู่ประจำตัวบุคคล ไม่เคยปรากฏว่าเหมือนกันหรือมีซ้ำ เมื่อแตกต่างกัน จึงเชื่อได้ว่าไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม ลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่พันตำรวจตรีทวี พยานโจทก์จัดให้จำเลยพิมพ์แล้วส่งไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือของนายเลียว ชุง ฟูที่ได้รับจากทางการของประเทศไต้หวันกลับปรากฏว่าตรงกันจึงเชื่อได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยคือนายเลียว ชุง ฟูจำเลยเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ แต่การที่จำเลยอ้างส่งหนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัวตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งที่ว่าการอำเภอแม่จัน ออกให้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2526 เพื่อแสดงว่านายยาลีได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ให้เปลี่ยนชื่อตัวเป็นยรรยง ทั้ง ๆ ที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการแปลงสัญชาติซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2526 ก็ประกาศอยู่แล้วว่านายยาลีมีชื่อว่านายยรรยงด้วย จึงดูเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นแสดงให้เห็นว่าเป็นการเตรียมสร้างหลักฐานไว้ให้พร้อม และนายยรรยงหรือยาลีตามประกาศดังกล่าวไม่มีนามสกุลก็ปรากฏว่าจำเลยอ้างส่งหนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อสกุลตามเอกสารหมาย ล.4ซึ่งที่ว่าการอำเภอแม่จันออกให้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2526เพื่อแสดงว่านายยรรยงขอจดทะเบียนใช้ชื่อสกุลว่า”ทวีอภิรดีบุญทิพ” หนังสือสำคัญนี้ก็ขัดกับบัญชีทหารกองเกินตามเอกสารหมาย ล.5 ของนายยรรยงที่นายอำเภอแม่จันออกให้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2526 อย่างเห็นได้ชัด เพราะตามบัญชีทหารกองเกินปรากฏว่ามีการใช้ชื่อสกุลทวีอภิรดีบุญทิพแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้มีการขอจดทะเบียนใช้ชื่อสกุลดังกล่าวเป็นเวลาก่อนกันเกือบ 1 เดือน จึงเห็นได้ว่าเอกสารที่จำเลยนำมาแสดงล้วนแต่มีพิรุธน่าสงสัย ระยะเวลาตั้งแต่มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้สัญชาติแก่นายยรรยงจนกระทั่งมีการขอออกบัตรประจำตัวประชาชนที่ที่ว่าการอำเภอแม่จันเป็นครั้งแรกนั้นห่างกันเกือบ 2 ปีซึ่งก็นับว่านานเกินไปจนผิดปกติวิสัย ทำให้เข้าใจไปได้ว่ามีการสร้างหลักฐานและเปลี่ยนตัวกันในช่วงนี้ ทั้งจำเลยก็รับอยู่แล้วว่าได้บัตรประจำตัวประชาชนจากที่ว่าการอำเภอแม่จันไปใช้แล้วต่อมาได้ไปขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ที่จังหวัดอื่นจึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้แจ้งข้อความและแสดงหลักฐานต่าง ๆต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อฟังได้ว่า จำเลยไม่ใช่นายยรรยงหรือยาลีผู้ได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทย แต่ความจริงเป็นชาวไต้หวันชื่อนายเลียว ชุง ฟู มีสัญชาติไต้หวันจำเลยจึงต้องมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยนี้เมื่อยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ณ ที่ว่าการอำเภอแม่จันจังหวัดเชียงราย ในครั้งแรกโดยแจ้งข้อความและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว เมื่อไปยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ณ ที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน จึงต้องเป็นความผิดกรรมใหม่กระทงใหม่ต่อไปอีก ต่างกรรมต่างวาระกัน ไม่ใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกาและที่จำเลยฎีกาว่า ศาลจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่ามีน้ำหนักให้เชื่อถือได้หรือไม่เพียงใด แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยจากพยานหลักฐานของจำเลยฝ่ายเดียวแล้วฟังว่ามีข้อพิรุธหรือข้อแตกต่างไม่อาจเชื่อถือได้แล้วเชื่อพยานหลักฐานโจทก์ว่ามีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ปรากฏว่าหาเป็นดังที่จำเลยฎีกาไม่กล่าวคือ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์เป็นหลัก และฟังได้แล้วว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องสำหรับคำพิพากษาตอนท้ายก็ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยด้วยเพื่อชี้ให้เห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีข้อพิรุธและข้อแตกต่างจึงไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยว่าสมควรลดโทษหรือรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นภัยต่อประเทศชาติทำให้เกิดความเสียหายแก่สังคมส่วนรวม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว จึงไม่ลดโทษให้และโทษของจำเลยไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษ ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share