คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้คัดค้านมิใช่ทายาทของผู้ตายในอันที่จะมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ทั้งยังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายมิให้เป็น ผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีกด้วย ฉะนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามหลักกฎหมายอิสลามของผู้ตาย เป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายการที่ผู้คัดค้านฎีกาคัดค้านเพียงว่า ผู้ร้องมิใช่บุตรของผู้ตายจึงมีผลเช่นเดียวกับผู้คัดค้านซึ่งมิใช่ทายาทและมิได้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตายมาคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิคัดค้านการตั้ง ผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องมรดก คดีเกิดในจังหวัดนราธิวาส ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นอิสลามศาสนิก จึงตกอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามมาตรา 3 ที่ต้องใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามมาตรา 4 บัญญัติให้ดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลาม ปัญหาที่ว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยหลักกฎหมายอิสลามของผู้ตายหรือไม่และผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ตามหลักกฎหมายอิสลามหรือไม่เป็นข้อกฎหมายอิสลามที่ดะโต๊ะยุติธรรมต้องเป็นผู้ชี้ขาดศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยข้อกฎหมายอิสลามได้ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ในปัญหาดังกล่าว

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยหลักกฎหมายอิสลามของนายหะยีเจ๊ะแว บินอาแวกับนางหะยีเจ๊ะงอ บินเจ๊ะยอ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2512นายหะยีเจ๊ะแวถึงแก่ความตาย ส่วนบิดาและมารดาของผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโกลกจังหวัดนราธิวาส และมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมและมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ผู้ร้องมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่บุตรของผู้ตายกับนางเจ๊ะปูงอ ผู้ตายเพียงแต่นำผู้ร้องมาเลี้ยงดูเสมือนเป็นบุตร ผู้ร้องไม่ใช่ทายาทจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ส่วนผู้คัดค้านเป็นบุตรซึ่งเกิดจากพี่น้องร่วมบิดาของผู้ตายสายชาย ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกตามหลักกฎหมายอิสลาม โดยพี่น้องร่วมบิดาของผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ผู้คัดค้านจึงมีส่วนได้เสียในการรับมรดกของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้องขอและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและของผู้คัดค้าน
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้นายหะยีมักตา บินหะยีเจ๊แวผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายหะยีเจ๊ะแว บินอาแว ผู้วายชนม์โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ว่าผู้คัดค้านมิใช่ทายาทของผู้ตายในอันที่จะมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 ทั้งยังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายมิให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีกด้วย ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามหลักกฎหมายอิสลามของผู้ตาย ผู้ร้องเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียของผู้ตาย และผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย แล้วพิพากษากลับให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย การที่ผู้คัดค้านฎีกาคัดค้านเพียงข้อเดียวว่าผู้ร้องมิใช่บุตรของผู้ตายเช่นนี้ จึงมีผลเช่นเดียวกับผู้คัดค้านที่มิใช่ทายาทและมิได้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตายมาคัดค้านการจัดตั้งผู้จัดการมรดกผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิที่จะคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้คัดค้านชอบแล้ว ฎีกาผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้เป็นเรื่องการตั้งผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องมรดกคดีเกิดในจังหวัดนราธิวาส ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นอิสลามศาสนิก จึงตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานีนราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มาตรา 3 จึงต้องใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามมาตรา 4 บัญญัติให้ดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามปัญหาที่ว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยหลักกฎหมายอิสลามของผู้ตายหรือไม่ และผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ตามหลักกฎหมายอิสลามหรือไม่เป็นข้อกฎหมายอิสลามที่ดะโต๊ะยุติธรรมต้องเป็นผู้ชี้ขาด ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยข้อกฎหมายอิสลามได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ในปัญหาดังกล่าวโดยฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตาย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และคำพิพากษาศาลชั้นต้นย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่โดยฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมา

Share