คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1441/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หากจำเลยประสงค์จะแก้ไขวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทจำเลยก็น่าจะเขียนวันที่สั่งจ่ายใหม่ด้วยลายมือของตนเองเหมือนกันที่ได้กรอกข้อความลงในรายการตามเช็คต่อหน้าโจทก์ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องใช้ตราประทับลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คในเมื่อวันที่สั่งจ่ายครั้งแรกจำเลยก็เขียนด้วยลายมือของตนเองและเมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อที่กำกับไว้ใต้ตราประทับกับลายมือชื่อของจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายมีลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขีดฆ่าวันที่สั่งจ่ายครั้งแรกและประทับตราลงวันที่ใหม่เมื่อเช็คพิพาทมีแก้ไขวันที่สั่งจ่ายโดยไม่ปรากฏตัวผู้แก้ไขและการแก้ไขดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยจำเลยผู้ต้องรับผิดตามเช็คมิได้ยินยอมด้วยเช็คดังกล่าวจึงเป็นอันเสียไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1007วรรคหนึ่งเมื่อเช็คอันเป็นมูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายโจทก์ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยใช้เงินตามเช็คได้จำเลยจึงมิได้เป็นหนี้โจทก์โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา9ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็ค 5 ฉบับ ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งห้าฉบับ โจทก์ทวงถาม แต่จำเลยเพิกเฉยไป โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระพฤติการณ์ของจำเลยต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวจำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นหลายรายไม่สามารถชำระหนี้ได้ และเป็นหนี้โจทก์เกินกว่า 50,000 บาทหนี้นั้นถึงกำหนดชำระและกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย
จำเลยให้การว่า เช็คทั้งห้าฉบับมีการขีดฆ่าวันเดือนปีที่สั่งจ่ายเงินและเพิ่มเติมวันเดือนปีใหม่ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยมีหน้าที่การงานเป็นหลักแหล่งมั่นคงมีรายได้ประจำไม่น้อยกว่าเดือนละ 50,000 บาท มีทรัพย์สินมูลค่าไม่น้อยกว่า 25,000,000 บาท ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิจารณา แล้ว พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยออกเช็คธนาคารศรีนครจำกัด สาขาปทุมวัน รวม 5 ฉบับ สั่งจ่ายเงิน 100,000 บาท180,000 บาท 150,000 บาท 230,000 บาท และ 290,000 บาท มอบให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์นำเข้าบัญชีโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสำนักงานใหญ่ เพื่อให้เรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งห้าฉบับ ตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมายจ.1 ถึง จ.10 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าโจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยใช้เงินตามเช็คทั้งห้าฉบับดังกล่าวได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เช็คตามเอกสารหมาย จ.1, จ.3,จ.5, จ.7 และ จ.9 มีการลงวันที่สั่งจ่ายไว้ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นลายมือเขียนของจำเลย ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2531 ตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2531 ตามเช็คเอกสารหมายจ.3 และลงวันที่ 11 มิถุนายน 2531 ตามเช็คเอกสารหมาย จ.5ส่วนเช็คตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.9 ลงเดือนกรกฎาคม 2531 โดยมิได้ลงวันที่ ต่อมามีการขีดฆ่าวันที่สั่งจ่ายเช็คทั้งห้าฉบับดังกล่าวแล้วประทับตราลงวันที่ใหม่ในบรรทัดถัดลงมาโดยมุ่งหมายจะให้เป็นวันที่สั่งจ่ายใหม่ กับมีลายมือชื่อกำกับอยู่ใต้ตราประทับในช่องจำนวนเงิน โดยเช็คตามเอกสารหมาย จ.1 ประทับตราลงวันที่4 มกราคม 2536 และเช็คตามเอกสารหมาย จ.3, จ.5, จ.7 และ จ.9ประทับตราลงวันที่ 28 เมษายน 2536 โจทก์เบิกความว่า โจทก์รับเช็คทั้งห้าฉบับเมื่อประมาณปลายปี 2534 และต้นปี 2535 ในวันที่โจทก์รับเช็คทั้งห้าฉบับมีการลงวันที่สั่งจ่ายแล้ว แต่ในขณะที่จำเลยนำเช็คมามอบให้โจทก์มีการขีดฆ่าวันที่สั่งจ่ายจำเลยได้ลงลายมือชื่อกำกับ พร้อมทั้งประทับตราลงวันที่สั่งจ่ายใหม่ และจำเลยได้กรอกข้อความตามรายการในเช็คทั้งห้าฉบับต่อหน้าโจทก์ ส่วนจำเลยเบิกความว่าเช็คทั้งห้าฉบับจำเลยลงวันที่สั่งจ่ายล่วงหน้าโดยเช็คตามเอกสารหมาย จ.1 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2531 เช็คตามเอกสารหมาย จ.3 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2531 และเช็คตามเอกสารหมายจ.5 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2531 ส่วนเช็คตามเอกสารหมาย จ.7 และจ.9 จำเลยลงเดือนกรกฎาคม 2531 โดยมิได้ลงวันที่ จำเลยมิได้ขีดฆ่าวันที่สั่งจ่ายในเช็คและประทับตราลงวันที่ใหม่ ทั้งมิได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ใต้ตราประทับ เห็นว่า เช็คทั้งห้าฉบับหากจำเลยประสงค์จะแก้ไขวันที่สั่งจ่ายในเช็ค เมื่อจำเลยนำมามอบให้โจทก์ จำเลยก็น่าจะเขียนวันที่สั่งจ่ายใหม่ด้วยลายมือของตนเองเหมือนกับที่ได้กรอกข้อความลงในรายการตามเช็คต่อหน้าโจทก์ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องใช้ตราประทับลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คในเมื่อวันที่สั่งจ่ายครั้งแรกจำเลยก็เขียนด้วยลายมือของตนเองและเมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อที่กำกับไว้ใต้ตราประทับกับลายมือชื่อของจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายมีลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลเดียวกัน โจทก์นอกจากตัวโจทก์แล้วไม่มีพยานอื่นรู้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ขีดฆ่าวันที่สั่งจ่ายในเช็คครั้งแรกและประทับตราลงวันที่สั่งจ่ายใหม่ทั้งไม่มีพยานยืนยันได้ว่า ลายมือชื่อกำกับไว้ใต้ตราประทับเป็นลายมือชื่อของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยเป็นผู้ขีดฆ่าวันที่สั่งจ่ายครั้งแรกและประทับตราลงวันที่ใหม่โดยมุ่งหมายที่จะให้เป็นวันที่สั่งจ่ายใหม่ เมื่อเช็คตามเอกสารหมายจ.1, จ.3, จ.5, จ.7 และ จ.9 จะมีการแก้ไขวันที่สั่งจ่ายโดยไม่ปรากฏตัวผู้แก้ไข และการแก้ไขดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยจำเลยผู้ต้องรับผิดตามเช็คมิได้ยินยอมด้วยเช็คทั้งห้าฉบับดังกล่าวเป็นอันเสียไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง เมื่อเช็คอันเป็นมูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โจทก์ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยใช้เงินตามเช็คได้ จำเลยจึงมิได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 9 ไม่ได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในประการต่อไปว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share