แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หมิ่นประมาทตามมาตรา 531 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หาจำต้องถึงกับเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาไม่ เพียงแต่ได้ความว่า กระทำการโดยเจตนาหมิ่นก็ถือว่าประพฤติเนรคุณแล้ว การที่จำเลยด่าโจทก์ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยด้วยถ้อยคำว่า “อีโคตรพ่อ อีโคตรแม่มึง อีหน้าด้าน อีหน้าหมา อีไม่มีศีลธรรม” และด้วยถ้อยคำหยาบอื่น ๆ อีกในทำนองว่าโจทก์เป็นคนโกงหักหลังได้แม้กระทั่งลูกของตน เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์ผู้เป็นมารดา ขาดการเคารพยำเกรงตามวิสัยของบุตร จึงนับว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตามมาตรา 531 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๒๗๘ ตำบลหัวเรือ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ ๑๑ ไร่เศษ ให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา โดยจดทะเบียนการยกให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมาจำเลยได้ด่าว่าโจทก์ต่อหน้าบุคคลอื่นหลายคนว่า “โคตรพ่อ โคตรแม่มึง หมาเย็ดโคตรแม่มึง อีเฒ่า อีหมา มึงอย่ามาเหยียบดินกู ดินกูมึงไม่มีสิทธิแล้ว อีหน้าหมา มึงมันคนชั่วไม่มีความเป็นธรรม คดในข้องอในกระดูก ใจอำมหิต ลำเอียงแม้กระทั่งกู ลูกในไส้มึงแท้ ๆ อย่างกูมึงยังโกงและหักหลัง อีหน้าด้าน ยอดต้มมนุษย์” ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ถือได้ว่าหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงเป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ ขอให้เพิกถอนคืนการให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ดังกล่าว
จำเลยให้การว่าไม่ได้ด่าโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยด่าโจทก์ อันเป็นการประพฤติเนรคุณจริง พิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๒๗๘ คืนให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยด่าโจทก์ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยด้วยถ้อยคำว่า “อีโคตรพ่อ อีโคตรแม่มึง อีหน้าด้าน อีหน้าหมา อีไม่มีศีลธรรม” และด้วยถ้อยคำหยาบอื่น ๆ อีกในทำนองว่าโจทก์เป็นคนโกงหักหลังได้แม้กระทั่งลูกของตนจริง และวินิจฉัยข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำสืบไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท จึงฟังว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ไม่ได้ เห็นว่า หมิ่นประมาทตามมาตรา ๕๓๑ (๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาจำต้องถึงกับเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาไม่ เพียงแต่ได้ความว่า เจตนาดูหมิ่นก็ถือว่าประพฤติเนรคุณแล้ว การที่จำเลยด่าโจทก์ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยด้วยถ้อยคำดังกล่าวข้างต้น เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์ผู้เป็นมารดา ขาดความเคารพนับถือ ยำเกรงตามวิสัยของบุตร จึงนับได้ว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตามมาตรา ๕๓๑ (๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว
พิพากษายืน