คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14342/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอคืนรถยนต์ของกลางที่ศาลชั้นต้นสั่งริบ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องเพราะผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ของกลาง คดีถึงที่สุด แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยว่า รถยนต์ของกลางที่ถูกริบเป็นของผู้ใดก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางในคดีนี้อีก โดยอ้างว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน ป้ายแดง ก – 1523 กาญจนบุรี ของกลาง ที่ถูกริบ ซึ่งปัจจุบันได้จดทะเบียนเปลี่ยนเป็นหมายเลขทะเบียน ถพ 1295 กรุงเทพมหานคร เป็นของผู้ร้อง จึงเป็นการรื้อร้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกสิบเจ็ดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 134 วรรคหนึ่ง, 160 ทวิ และริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป้ายแดง ก – 1523 กาญจนบุรี ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์หมายเลข ถพ 1295 กรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่าเป็นรถยนต์ที่จำเลยที่ 8 นำไปใช้ในการกระทำความผิด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง โดยวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน ถพ 1295 กรุงเทพมหานคร เป็นรถยนต์คันเดียวกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป้ายแดง ก – 1523 กาญจนบุรี ที่ถูกริบ พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบจึงไม่เพียงพอฟังว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ก – 1523 กาญจนบุรี ของกลางเป็นของผู้ร้อง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ขก. 11/2553 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุด ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้อ้างว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน ป้ายแดง ก – 1523 กาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันได้จดทะเบียนเปลี่ยนเป็นหมายเลขทะเบียน ถพ 1295 กรุงเทพมหานคร ของกลาง
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า คำร้องคดีนี้เป็นการร้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ขก. 11/2553 ของศาลชั้นต้นว่า รถยนต์ของกลางที่ถูกริบเป็นของผู้ใด จึงไม่เป็นการตัดสิทธิเจ้าของที่แท้จริงในการยื่นคำร้องและนำพยานหลักฐานมาสืบแสดงความเป็นเจ้าของที่แท้จริง และไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด เพื่อขอรับรถยนต์ของกลางที่เป็นทรัพย์สินของตนคืนนั้น เห็นว่า ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอคืนรถยนต์ของกลางที่ศาลชั้นต้นสั่งริบ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง เพราะผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ของกลาง คดีถึงที่สุด แม้ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่า รถยนต์ของกลางที่ถูกริบเป็นของผู้ใดก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางในคดีนี้อีกโดยอ้างว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน ป้ายแดง ก – 1523 กาญจนบุรี ของกลาง ที่ถูกริบ ซึ่งปัจจุบันได้จดทะเบียนเปลี่ยนเป็นหมายเลขทะเบียน ถพ 1295 กรุงเทพมหานคร เป็นของผู้ร้องนั้น จึงเป็นการรื้อร้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ร้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

Share