คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1433/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำว่า “ป้าย” ตามพระราชบัญญัติภาษีป้ายฯ มาตรา 6 หมายความว่า ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึกหรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น แต่ป้ายที่มีข้อความว่า “กรมสรรพากรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่ายดีเซล ซูพรีม92ซูพรีม 97″เป็นป้ายที่โจทก์มีหน้าที่ต้องจัดทำตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 54) ป้ายดังกล่าวจึงมิใช่ป้ายตามความหมายข้างต้น โจทก์ไม่มีหน้าที่เสียภาษีป้ายนี้
ส่วนป้ายที่มีข้อความว่า “ดีเซล” แม้จะเป็นชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่มีลักษณะทั่วไป แต่ก็ยังคงอยู่ในความหมายของคำว่า “ป้าย” เมื่อป้ายนี้อยู่ในอาคารที่ประกอบกิจการการค้าและมีขนาดพื้นที่ป้ายเกินกว่าหนึ่งตารางเมตร โจทก์จึงต้องเสียภาษีป้ายดังกล่าวแต่ป้าย “ดีเซลและซูพรีม 97” เป็นป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกินหนึ่งตารางเมตร จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้าย
สำหรับป้าย “เอสโซ่Essoและเครื่องหมายลูกศร” เป็นป้ายที่อยู่โครงป้ายเดียวกันและไม่สามารถแยกจากกันได้กับข้อความ “ยินดีรับบัตร SYNERGYESSO” เครื่องหมายลูกศรอยู่ใต้ข้อความดังกล่าว จึงเป็นชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าของโจทก์อันมีลักษณะเชิญชวนให้ลูกค้าที่เป็นสมาชิกบัตรดังกล่าวเข้าใช้บริการของโจทก์ซึ่งตรงตามคำนิยามของคำว่า “ป้าย” แล้ว เมื่อป้ายดังกล่าวมีขนาดพื้นที่เกินหนึ่งตารางเมตรโจทก์จึงต้องเสียภาษีป้ายดังกล่าว
ป้ายมีข้อความว่า “เอสโซ่ Esso รูปเสือ WelcometotigerMart ล้าง-อัดฉีดห้องน้ำสะอาด” เป็นป้ายประเภท 2 ที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศและเครื่องหมายซึ่งอยู่ในโครงป้ายเดียวกันทั้งหมดไม่อาจแยกจากกันได้และมีขนาดพื้นที่เกินกว่าหนึ่งตารางเมตร โจทก์ต้องเสียภาษีป้ายในส่วนนี้ด้วย
การขอคืนค่าภาษีป้ายตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้ายฯ ต้องเป็นการขอคืนต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เสียภาษีป้าย และต้องเป็นกรณีที่ผู้เสียภาษีป้ายเสียภาษีไปโดยไม่มีหน้าที่หรือเสียเกินกว่าที่ควรต้องเสีย แต่การที่โจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีป้ายไม่ถูกต้อง และยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าวตามมาตรา 30 โดยจำเลยทั้งสองวินิจฉัยยืนตามการแจ้งประเมิน โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขการประเมินและคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองพร้อมทั้งขอคืนค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มที่ประเมินเกินไปคืนนั้น มิใช่กรณีตามพระราชบัญญัติภาษีป้ายฯ มาตรา 24 โจทก์จึงมีอำนาจขอค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มคืนจากจำเลยที่ 1 ได้แม้ว่าจะเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันเสียภาษีป้ายก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยเป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มีอำนาจจัดเก็บภาษีป้ายในเขตอำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร จำเลยที่ 2 เป็นนายกเทศมนตรีมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์ของผู้รับประเมินภาษีป้าย เมื่อวันที่ 9มีนาคม 2542 จำเลยที่ 2 ได้แจ้งประเมินค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ประจำปี 2538 เป็นเงิน 74,320 บาท เงินเพิ่ม 7,432 บาท ปี 2539เป็นเงิน 55,520 บาท เงินเพิ่ม 5,552 บาท ปี 2540 เป็นเงิน 61,440 บาท เงินเพิ่ม6,144 บาท ปี 2541 เป็นเงิน 61,440 บาท เงินเพิ่ม 6,144 บาท และปี 2542 เป็นเงิน74,320 บาท รวมเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มทั้งสิ้น 352,312 บาท พร้อมกันนี้จำเลยที่ 2ยังได้แนบแบบแสดงรายการภาษีป้ายปี 2538 ถึง 2542 ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กรอกข้อความในแบบให้แก่โจทก์เพื่อลงนาม แต่โจทก์เห็นว่ารายการในแบบและค่าภาษีไม่ถูกต้องโจทก์จึงมิได้ลงนามแต่อย่างใด และได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์และขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2542 โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยวินิจฉัยยืนตามการประเมิน โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการแจ้งประเมินภาษีและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เพราะในปี 2537 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งประเมินภาษีป้ายสถานีบริการน้ำมันเดียวกันนี้ เป็นเงิน 11,840 บาท แต่ปี 2538 จำเลยที่ 2 ได้แจ้งประเมินค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่ม เป็นเงิน 81,752 บาท ซึ่งเป็นการประเมินที่ไม่ถูกต้อง เพราะมิได้มีการเปลี่ยนแปลงป้ายที่มีอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน ค่าภาษีจึงควรเท่ากับปี 2537 โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามการประเมิน ขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้าย ที่ มห 52003/0445 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2542และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ มห 52003/1434 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2542 และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษี 202,414 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระต้นเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ประเมินภาษีป้าย หนังสือของจำเลยที่ 1 ที่ มห 52003/0445 ลงวันที่ 9มีนาคม 2542 มิใช่หนังสือแจ้งการประเมิน หากแต่เป็นหนังสือแจ้งยอดภาษีโรงเรือนและภาษีป้าย โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่น โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ และมิใช่กรณีที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิทางศาลตามนัยมาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องหากศาลฟังว่ากรณีของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ประเมินภาษีป้ายและเงินเพิ่ม สำหรับป้ายตามฟ้องและหนังสือของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ มห 52003/1434 เป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองขอให้การว่า การประเมินภาษีป้ายและเงินเพิ่มของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ชำระค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มของปี 2538 ถึง 2542 รวมเป็นค่าภาษีและเงินเพิ่ม 352,312 บาท ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้แก้ไขการประเมินค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มตามหนังสือที่ มห 52003/0445 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ มห 52003/1434 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2542 เป็นให้โจทก์ชำระค่าภาษีป้ายสำหรับปี 2538 เป็นเงิน 38,800 บาท เงินเพิ่ม 3,880 บาท ปี 2539 ค่าภาษีป้าย 21,460บาท เงินเพิ่ม 2,146 บาท ปี 2540 ค่าภาษีป้าย 30,720 บาท เงินเพิ่ม 3,072 บาทปี 2541 ค่าภาษีป้าย 30,720 บาท เงินเพิ่ม 3,072 บาท ปี 2542 ค่าภาษีป้าย 38,800บาท เงินเพิ่ม 3,880 บาท และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มจำนวน188,050 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือ มห 52003/0445 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2542 แจ้งยอดภาษีโรงเรือนและภาษีป้ายไปยังผู้จัดการบริษัทโจทก์พร้อมแนบแบบแสดงรายการภาษีป้ายประจำปี 2538 ถึง 2542 ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในแบบดังกล่าว โดยประเมินให้โจทก์ชำระค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มประจำปี 2538 เป็นเงิน 81,752 บาท ปี 2539 เป็นเงิน61,072 บาท ปี 2540 เป็นเงิน 67,584 บาท ปี 2541 เป็นเงิน 67,584 บาท และปี 2542ประเมินเฉพาะค่าภาษีป้ายเป็นเงิน 74,320 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 ถึง 16โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงได้ยื่นแบบอุทธรณ์ภาษีป้ายฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2542 และหนังสือแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2542 โดยมีนางสาวนิดา ว่องเจริญลงลายมือชื่อในช่องผู้ยื่นอุทธรณ์และหนังสือแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ตามเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 17 ถึง 25 ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือที่ มห 52003/1434 ลงวันที่26 กรกฎาคม 2542 เรื่อง การอุทธรณ์ภาษีป้ายว่าจำเลยที่ 1 ได้เก็บภาษีป้ายตามประเภทขนาด และจำนวนของป้ายตามความเป็นจริงที่ปรากฏ ณ สถานที่ติดตั้งป้ายตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 26 โจทก์ได้ชำระค่าภาษีป้ายพร้อมเงินเพิ่มตามการประเมินของจำเลยทั้งห้าปีดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ครบแล้วตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 53 ถึง 57

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวนิดา ว่องเจริญ เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือที่ มห 52003/0445 ลงวันที่ 9 มีนาคม2542 ถึงผู้จัดการบริษัทโจทก์แจ้งยอดภาษีโรงเรือนและภาษีป้ายที่ค้างชำระตั้งแต่ปี2538 ถึง 2542 พร้อมทั้งแนบแบบแสดงรายการภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2)และแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) จำนวน 7 ฉบับ ให้โจทก์ลงลายมือชื่อพร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องแล้ว หากเห็นว่าถูกต้องให้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและค่าภาษีป้ายให้แก่จำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 10 ถึง 16 หนังสือดังกล่าวถือว่าเป็นการแจ้งการประเมินภาษีป้ายตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้ายพ.ศ. 2510 เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้วเห็นว่าการประเมินภาษีป้ายดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีป้ายตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2542 และหนังสือแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2542 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 17 ถึง 25 โดยนางสาวนิดา ว่องเจริญ เป็นผู้แทนโจทก์ในการอุทธรณ์การประเมินภาษีป้าย และในชั้นพิจารณาโจทก์ส่งหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงฉบับลงวันที่ 4 มกราคม2542 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7 ถึง 9 ซึ่งได้มอบอำนาจช่วงให้นางสาวนิดา ว่องเจริญมีอำนาจในการกรอก ทำ ลงนาม และยื่นคำร้องขอรับชำระค่าภาษีทุกชนิด รวมทั้งยื่นอุทธรณ์และการขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ได้ พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอที่จะฟังได้ว่านางสาวนิดา ว่องเจริญ เป็นผู้รับมอบอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในการอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีป้ายที่พิพาทและได้ดำเนินการครบถ้วนถูกต้องตามมาตรา 30 และ 33 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการที่สองมีว่า ค่าภาษีป้ายที่ถูกต้องที่โจทก์จะต้องชำระเป็นจำนวนเงินเท่าใด ปัญหานี้ต้องพิจารณาจากหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติคำนิยามไว้ว่า”ป้าย” หมายความว่า “ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้า หรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลักจารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น”

สำหรับค่าภาษีป้ายปี 2538 ป้ายที่มีข้อความว่า “เอสโซ่” เหนือหัวจ่ายจำนวน6 ป้าย จำนวนค่าภาษี 3,840 บาท ป้ายที่มีข้อความว่า “เอสโซ่ Esso” บนหลังคาจำนวน2 ป้าย จำนวนค่าภาษี 400 บาท ป้ายรูปเสือไทเกอร์มินิมาร์ท Tiger Mini Mart และป้ายรูปเสือไทเกอร์มาร์ท Tiger Mart อย่างละ 1 ป้าย จำนวนค่าภาษี 2,820 บาท และ220 บาท ตามลำดับนั้น โจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางที่พิพากษาให้ใช้จำนวนค่าภาษีดังกล่าว ปัญหาจำนวนค่าภาษีตามป้ายดังกล่าวจึงยุติ โจทก์ต้องเสียภาษีจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามป้ายที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คือ

ป้ายที่มีข้อความว่า “กรมสรรพากรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย ดีเซลซูพรีม 92 ซูพรีม 97” ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 60 หรือ ล.1 แผ่นที่ 1 จำนวน2 ป้าย เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการรายย่อยมีหน้าที่ต้องจัดทำแผ่นป้ายที่มีข้อความ “เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย” ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย การออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากรและการเก็บรักษารายงานตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 7 ป้ายดังกล่าวจึงมิใช่ป้ายตามความหมายของคำนิยามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายตามการประเมินของจำเลยที่ 1

ป้ายที่มีข้อความว่า “ดีเซล” จากการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร จำนวน 6 ป้าย ป้าย “ซูพรีม 97″และ “ดีเซล” ทางการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีขนาดกว้าง 80เซนติเมตร ยาว 75 เซนติเมตร ชนิดละ 6 ป้าย ซึ่งเป็นป้ายอยู่ใต้หลังคาภายในอาคารตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 และ 3 เห็นว่า ตามคำนิยามคำว่าป้ายดังกล่าวมาแล้วมีเจตนาที่จะจัดเก็บภาษีป้ายที่ปรากฏชื่อยี่ห้อหรือเครื่องหมายทั้งที่มีลักษณะเฉพาะและลักษณะทั่วไป แม้จะไม่มีชื่อโจทก์อยู่ก็ตาม ดังนั้น ป้ายที่มีข้อความว่าดีเซล แม้จะเป็นป้ายที่เป็นชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่มีลักษณะทั่วไปก็ตาม แต่ก็ยังคงอยู่ในความหมายของคำว่าป้ายตามคำนิยามของกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าป้ายนี้อยู่ในอาคารที่ใช้ประกอบกิจการค้าจะอยู่ในขอบข่ายที่จะได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 หรือไม่ ต้องพิจารณาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535) ซึ่งยกเว้นค่าภาษีป้ายให้เฉพาะป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกินหนึ่งตารางเมตร อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อปรากฏว่าป้ายที่มีข้อความว่า ดีเซล จากทางการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1มีขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร ซึ่งเป็นป้ายที่มีขนาดเกินหนึ่งตารางเมตรจำนวน 6 ป้าย โจทก์จึงต้องเสียภาษีป้ายตามการประเมินของจำเลยที่ 1 จำนวน 1,200บาท ส่วนป้ายดีเซลและซูพรีม 97 ที่มีขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 75 เซนติเมตรเป็นป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกินหนึ่งตารางเมตรอย่างละ 6 ป้าย จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามการประเมินของจำเลยที่ 1 เฉพาะในส่วนนี้

ป้ายที่มีข้อความว่า “เอสโซ่ Esso และเครื่องหมายลูกศร” ตามเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 64 หรือ ล.1 แผ่นที่ 4 เห็นว่า เป็นป้ายที่อยู่โครงป้ายเดียวกันและไม่สามารถแยกจากกันได้กับข้อความยินดีรับบัตร SYNERGY ESSO เครื่องหมายลูกศรอยู่ใต้ข้อความดังกล่าวจึงเป็นชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าของโจทก์ที่มีลักษณะเป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าซึ่งเป็นสมาชิกบัตร SYNERGY เข้าใช้บริการของโจทก์ ย่อมเป็นป้ายตามคำนิยามของคำว่าป้ายแล้ว เมื่อป้ายดังกล่าวมีขนาดกว้าง100 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย โจทก์จึงต้องเสียภาษีป้ายตามประเภทและขนาดตามที่จำเลยที่ 1 ประเมิน จำนวนเงิน 1,600 บาท

ป้ายที่มีข้อความว่า “เอสโซ่ Esso รูปเสือ Welcome to tiger Mart ล้าง-อัดฉีดห้องน้ำสะอาด” ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 65 หรือ ล.1 แผ่นที่ 4 ภาพบน จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า เป็นป้ายประเภท 3 คือเป็นป้ายที่มีภาษาไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ เห็นว่า ป้ายนี้มีข้อความเป็นภาษาไทยว่า เอสโซ่อยู่มุมบนขวาสุด มีอักษรภาษาอังกฤษอยู่ในวงรีใต้ข้อความภาษาไทยว่า Esso ถัดลงไปเป็นรูปเสือ Welcome to tiger Mart และถัดลงไปมีข้อความเป็นภาษาไทยว่า ล้าง-อัดฉีดห้องน้ำสะอาด ซึ่งอยู่ในโครงป้ายเดียวกันทั้งหมดไม่อาจแยกจากกันได้ จึงมิใช่ป้ายประเภท 3 ดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง แต่เป็นป้ายประเภท 2 คือเป็นป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศและเครื่องหมายจากการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่ามีขนาดกว้าง 480 เซนติเมตร ยาว 800 เซนติเมตร คิดเป็นพื้นที่ป้าย 384,000 ตารางเซนติเมตร อัตราภาษี 20 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตรค่าภาษีป้ายละ 15,360 บาท จำนวน 2 ป้าย คิดเป็นค่าภาษี 30,720 บาท

ดังนั้น จากการวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นในปี 2538 โจทก์จึงมีภาระต้องชำระค่าภาษีป้ายจำนวน 40,800 บาท และเงินเพิ่ม 4,080 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มทั้งสิ้น 44,880 บาท โจทก์ชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มไว้แล้วก่อนฟ้องคดีนี้เป็นเงิน 81,752 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินค่าภาษีป้ายที่ชำระไว้เกินจำนวนเงิน 36,872บาทให้แก่โจทก์

ปี 2539 โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายโดยมีประเภท ขนาด จำนวนพร้อมรายละเอียดป้ายและได้ชำระภาษีไว้แล้วจำนวนเงิน 18,800 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 22 แต่จากการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าขนาดของป้ายมีการเปลี่ยนแปลงไม่ตรงตามรายการที่โจทก์แสดงไว้ตามรายละเอียดภาษีป้ายประจำปี 2539 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 ถึง 7 และ 7/1 เมื่อรายละเอียดตามการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงไปจากรายละเอียดที่โจทก์ได้แสดงไว้ จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจประเมินตามมาตรา 25(2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 โจทก์แจ้งเสียภาษีป้ายตามประเภท ขนาดและจำนวนที่เกิดจากการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 คือ ป้ายที่มีข้อความว่า “ดีเซล”ใต้หลังคาขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร จำนวน 6 ป้าย ป้าย “ซูพรีม 97″และ “ดีเซล” ใต้หลังคาขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 75 เซนติเมตร อย่างละ 6 ป้ายซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยไว้แล้วในปี 2538 ว่า เป็นป้ายตามคำนิยามของคำว่าป้าย แต่เป็นป้ายที่อยู่ภายในอาคาร ซึ่งโจทก์ได้รับยกเว้นภาษีป้ายตามมาตรา 8(5)แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535)เฉพาะป้ายดีเซลและซูพรีม 97 ขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 75 เซนติเมตร อย่างละ6 ป้ายเท่านั้น ส่วนป้ายดีเซลขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร โจทก์ต้องเสียภาษีป้ายตามการประเมินของจำเลยที่ 1 จำนวนเงิน 1,200 บาท

ป้ายที่มีข้อความว่า “กรมสรรพากรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่ายดีเซลซูพรีม 92 ซูพรีม 97” ขนาดกว้าง 100 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้ายเมื่อป้ายดังกล่าวนี้มิใช่ป้ายตามคำนิยามของกฎหมายตามที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วในปี 2538โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามการประเมินของจำเลยที่ 1

ป้ายที่มีข้อความว่า “เอสโซ่ ESSO” (บนกล่องไฟหัวจ่ายด้านหน้า) ขนาดกว้าง80 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร จำนวน 6 ป้าย เป็นป้ายตามคำนิยามของคำว่าป้ายดังกล่าว โจทก์จึงต้องเสียภาษีป้ายตามการประเมินของจำเลยที่ 1 จำนวน 3,840 บาท

ป้ายรูปเสือไทเกอร์มินิมาร์ท tiger Mini Mart ขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 880เซนติเมตร จำนวน 1 ป้าย เป็นป้ายตามคำนิยามของคำว่าป้ายดังกล่าว โจทก์จึงต้องเสียภาษีตามการประเมินของจำเลยที่ 1 จำนวน 2,820 บาท

ป้ายที่มีข้อความว่า “เอสโซ่ ESSO” (หลังคา) ขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 100เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย เป็นป้ายตามคำนิยามของคำว่าป้ายดังกล่าว โจทก์จึงต้องเสียภาษีตามการประเมินของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 400 บาท

ป้ายรูปเสือไทเกอร์มาร์ท Tiger Mart (ร้านค้า) เป็นป้ายตามคำนิยามของคำว่าป้ายดังกล่าว โจทก์จึงต้องเสียภาษีตามการประเมินของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 220 บาท

ป้ายที่มีข้อความว่า “เอสโซ่ Esso” รูปเสือ Welcome to Tiger Mart ล้าง-อัดฉีดห้องน้ำสะอาด” ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 65 หรือ ล.1 แผ่นที่ 4 ภาพบน ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยไว้แล้วในปี 2538 ว่าป้ายดังกล่าวอยู่ในโครงป้ายเดียวกันไม่อาจที่จะแยกจากกันได้ และเป็นป้ายที่มีข้อความภาษาไทยคำว่า เอสโซ่ อยู่มุมบนขวาสุดเป็นป้ายประเภท 2 มิใช่ประเภท 3 จากการยื่นแบบแสดงรายการของโจทก์ระบุว่ามีขนาดกว้าง 200 เซนติเมตร ยาว 440 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย แต่จากการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่ามีขนาดกว้าง 480 เซนติเมตร ยาว 800เซนติเมตร จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจประเมินค่าภาษีป้ายตามมาตรา 14 ทวิ และ 25แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ได้ตามขนาดที่ถูกต้องที่ได้จากการตรวจสอบโจทก์จึงต้องเสียภาษีป้ายนี้เป็นป้ายประเภท 2 อัตราภาษี 20 บาทต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร ขนาดกว้าง 480 เซนติเมตร ยาว 800 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย คิดเป็นค่าภาษี 30,720 บาท

ป้ายที่มีข้อความว่า “เอสโซ่ Esso และเครื่องหมายลูกศร” ป้ายนี้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยไว้ในปี 2538 ว่าเป็นป้ายที่อยู่ในโครงป้ายอันเดียวกันไม่อาจแยกจากกันได้ และจากการพิจารณาป้ายดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 64 หรือ ล.1แผ่นที่ 4 เป็นป้ายที่มีข้อความ ยินดีรับบัตร SYNERGY ESSO เครื่องหมายลูกศรชี้อยู่ใต้ข้อความดังกล่าว เป็นป้ายที่มีลักษณะการเชิญชวนให้ลูกค้าซึ่งเป็นสมาชิกบัตรSYNERGY เข้าใช้บริการของโจทก์ ป้ายดังกล่าวมีขนาดกว้าง 100 เซนติเมตร ยาว 200เซนติเมตร โจทก์จึงต้องเสียภาษีตามการประเมินของจำเลยที่ 1 จำนวน 1,600 บาท

ดังนั้น จากการวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นในปี 2539 โจทก์มีภาระต้องชำระค่าภาษีป้ายจำนวน 40,800 บาท โจทก์ได้ชำระไว้แล้วในปีนี้จำนวน 18,800 บาท คงเหลือค่าภาษีที่ต้องชำระ 22,000 บาท และเงินเพิ่ม 2,200 บาท รวมเป็นค่าภาษีและเงินเพิ่มจำนวน24,200 บาท ในปีนี้โจทก์ชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มไว้แล้วก่อนฟ้องคดีนี้อีกเป็นเงิน61,072 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนภาษีที่ชำระไว้เกินเป็นเงิน 36,872 บาทแก่โจทก์

ปี 2540 และ 2541 จำเลยที่ 1 ประเมินภาษีป้ายเพียงป้ายเดียวคือ ป้ายเอสโซ่Esso รูปเสือ Welcome to Tiger Mart ล้าง-อัดฉีด ห้องน้ำสะอาด ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 65 หรือ ล.1 แผ่นที่ 4 ภาพบนเท่านั้น เนื่องจากทั้งสองปีนี้โจทก์ปิดกิจการ เห็นว่า ป้ายดังกล่าวในปี 2538 และ 2539 ศาลฎีกาแผนกภาษีอากรได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็นป้ายประเภท 2 เมื่อป้ายมีขนาดกว้าง 480 เซนติเมตร ยาว 800 เซนติเมตรค่าภาษีป้ายแต่ละปีเป็นเงิน 30,720 บาท และเงินเพิ่มปีละ 3,072 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มปีละ 33,792 บาท โจทก์ชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มให้จำเลยที่ 1ก่อนฟ้องคดีนี้แล้วเป็นเงินปีละ 67,584 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนค่าภาษีให้แก่โจทก์เป็นเงินปีละ 33,792 บาท แต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 คืนค่าภาษีให้แก่โจทก์ปีละ30,720 บาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนค่าภาษีให้แก่โจทก์ปีละ 30,720 บาท ทั้งสองปีรวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 61,440 บาท

ปี 2542 จำเลยที่ 1 ประเมินภาษีป้ายตามประเภท ขนาดและจำนวนป้ายเช่นเดียวกับปี 2538 และ 2539 เมื่อป้ายดังกล่าวเช่นเดียวกันและทั้งสองปีดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยมาแล้วดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงต้องชำระค่าภาษีป้ายในปีนี้จำนวน 40,800 บาท ซึ่งในปีนี้โจทก์ได้ชำระค่าภาษีไว้แล้วก่อนฟ้องคดีนี้เป็นเงิน 74,320บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนค่าภาษีให้แก่โจทก์จำนวน 33,520 บาท อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ที่ให้โจทก์ชำระค่าภาษีป้ายตามประเภทขนาดและจำนวนป้ายตามการประเมินของจำเลยที่ 1 ทุกป้าย ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิขอคืนค่าภาษีป้ายที่ชำระเกินเนื่องจากโจทก์มิได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอคืนต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เสียภาษีป้ายตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 หรือไม่ เห็นว่าการขอคืนค่าภาษีป้ายตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีขอคืนต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เสียภาษีป้ายต้องเป็นกรณีที่ผู้เสียภาษีป้ายเสียภาษีป้ายไปโดยไม่มีหน้าที่หรือเสียเกินกว่าเท่าที่ควรต้องเสีย แต่กรณีคดีนี้โจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีป้ายไม่ถูกต้อง และได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีป้ายตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 แต่จำเลยทั้งสองวินิจฉัยยืนตามการแจ้งการประเมิน โจทก์จึงฟ้องให้เพิกถอนหรือแก้ไขการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง พร้อมขอคืนค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มที่ประเมินเกินไปโดยมิชอบที่โจทก์ได้ชำระให้จำเลยที่ 1 แล้วคืน กรณีจึงไม่ใช่กรณีขอคืนตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจขอคืนค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มคืนจากจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขการประเมินค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มตามหนังสือที่ มห 52003/0445 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ มห 52003/1434ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2542 เป็นให้โจทก์ชำระค่าภาษีป้ายสำหรับปี 2538 เป็นเงิน40,800 บาท และเงินเพิ่ม 4,080 บาท ปี 2539 ค่าภาษีป้าย 22,000 บาท และเงินเพิ่ม2,200 บาท ปี 2540 ค่าภาษีป้าย 30,720 บาท และเงินเพิ่ม 3,072 บาท ปี 2541 ค่าภาษีป้าย 30,720 บาท และเงินเพิ่ม 3,072 บาท และปี 2542 ค่าภาษีป้าย 40,800 บาทและให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีป้ายที่โจทก์ชำระไว้เกินจำนวน 168,704 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share