คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1429-1430/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขายฝากห้องพิพาทโดยไม่มีกำหนดเวลาไถ่ โจทก์จึงมีสิทธิขอไถ่ได้ภายในกำหนด 10 ปี และที่โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ซื้อฝากไปที่ว่าการอำเภอตามวันเวลาที่กำหนดเพื่อไถ่ถอนการขายฝาก ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน จำเลยได้รับแล้ว แม้จะคืนหนังสือนั้นไปก็ฟังว่าจำเลยได้ทราบการขอไถ่ และถือว่าโจทก์ใช้สิทธิไถ่คืนโดยชอบแล้ว
การที่จำเลยผู้ซื้อฝากให้โจทก์ผู้ขายฝากเช่าห้องพิพาท และต่อมาไม่ยอมให้โจทก์ไถ่คืน โจทก์ย่อมไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายที่ไม่ยอมออกจากห้องพิพาทที่เช่านั้นนับแต่วันที่โจทก์ใช้สิทธิไถ่คืนโดยชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิพากษา
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ขายฝากห้องแถวไม้ไว้กับจำเลยโดยไม่มีกำหนดเวลาไถ่ โจทก์ติดต่อขอไถ่กับจำเลยหลายครั้ง จำเลยบิดพลิ้ว จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยให้รับการไถ่ถอนการขายฝากจากโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า การขายฝากรายนี้มีกำหนดเวลาไถ่ ๓ ปี ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่มีเงินไถ่ และได้ขายห้องพิพาทให้จำเลยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลัง โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าห้องแถวตามฟ้องสำนวนแรกจากโจทก์มีกำหนดเวลา ๓ ปี ค่าเช่าเดือนละ ๘๐๐ บาท จำเลยไม่เคยชำระค่าเช่าเลย ขอให้ศาลขับไล่จำเลยออกจากห้องเช่า และชำระค่าเช่าที่ค้างเป็นเงิน ๒๗,๒๐๐ บาท กับค่าเสียหายคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๑๐๖ บาท และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ ๘๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากห้องพิพาท
จำเลยให้การว่า ไม่เคยเช่าห้องพิพาทจากโจทก์ หากมีสัญญาเช่าก็เป็นสัญญาปลอม โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในห้องพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเรียกนายพันธุ์ว่าโจทก์ เรียกนางมาลีว่าจำเลย
ศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาขายฝากห้องพิพาทกันมีกำหนด ๓ ปี โจทก์ใช้สิทธิไถ่คืนเมื่อล่วงเลยเวลาแล้ว จึงหมดสิทธิไถ่คืน จำเลยมีอำนาจให้เช่าห้องพิพาท และโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าห้องพิพาทไว้กับจำเลย โจทก์ค้างค่าเช่าจริง พิพากษายกฟ้องสำนวนแรก ส่วนสำนวนหลังให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากห้องพิพาท กับให้ชำระค่าเช่าและค่าเสียหายแก่จำเลยเดือนละ ๘๐๐ บาท ตั้งแต่วันทำสัญญาเช่าจนกว่าจะออกจากห้องพิพาท
โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยรับการไถ่คืนการขายฝากจากโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้โจทก์ชำระค่าเช่าห้องพิพาทแก่จำเลยเดือนละ ๘๐๐ บาท ตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่จำเลยผิดนัดไม่ไปรับการไถ่คืนการขายฝาก
จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า การขายฝากรายนี้ไม่มีกำหนดเวลาไถ่ โจทก์มีสิทธิขอไถ่ได้ภายใน ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๙๔ (๑)
ได้ความว่า โจทก์ให้นายพรชัยทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปที่ว่าการอำเภอกันทรลักษณ์ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๔ เวลา ๑๐ นาฬิกา เพื่อไถ่ถอนการขายฝาก หนังสือนี้ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน และจำเลยได้รับแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะคืนหนังสือนั้นไป ก็ต้องฟังว่า จำเลยได้ทราบการขอไถ่ทรัพย์จากโจทก์แล้ว และถือว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่คืนห้องพิพาทโดยชอบแล้ว โจทก์เช่าห้องพิพาทจากจำเลย และจำเลยได้บอกเลิกสัญญาเช่าต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๑๔ แล้ว ฉะนั้นนับแต่เวลาดังกล่านี้เป็นต้นไป จำเลยจะมีสิทธิฟ้องเรียกได้แต่เฉพาะค่าเสียหายที่โจทก์อยู่ในห้องพิพาทโดยละเมิดเท่านั้น คดีจึงมีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยตามข้อฎีกาของจำเลยเพียงว่า หลังจากวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๔ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ใช้สิทธิไถ่คืนห้องพิพาทโดยชอบแล้วนั้น จำเลยมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว หากจำเลยยอมรับไถ่ ห้องพิพาทก็จะกลับคืนมาเป็นของโจทก์ ๆ ย่อมมีสิทธิจะอยู่ในห้องพิพาทได้ การที่ห้องพิพาทยังไม่เป็นของโจทก์ก็เพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัด โจทก์มิได้ทำละเมิดต่อจำเลย จึงไม่ต้องใช้ค่าเสียหายให้จำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share