แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์เป็นกรรมการบริษัทจำเลยและมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไป มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์คงเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อหลักเกณฑ์การจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยไม่มีข้อจำกัดว่าพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาไม่มีสิทธิได้รับ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หลักเกณฑ์การจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยกำหนดว่ากรณีที่พนักงานจะไม่ได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพราะไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่หรือทุจริต ต้องปรากฏว่าพนักงานผู้นั้นถูกไล่ออกเพราะเหตุนั้น หรือกระทำการอย่างอื่นซึ่งจำเลยพิจารณาเห็นสมควรเลิกจ้างโดยมิต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อปรากฏว่าโจทก์ลาออกเองโดยไม่ถูกไล่ออกหรือเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวโจทก์จึงไม่ถูกตัดสิทธิมิให้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการทั่วไป จำเลยบังคับให้โจทก์ลาออกจากงานโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการกล่าวล่วงหน้า เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินโบนัสและค่าเสียหาย พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่ เห็ฯว่า จำเลยจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามหลักเกณฑ์ในเอกสารหมาย จ.๑๓ (ฉบับคำแปล) ซึ่งกำหนดว่า กรณีที่พนักงานจะไม่ได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพราะไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่หรือทุจริต ต้องปรากฏว่าพนักงานผู้นั้นถูกไล่ออกเพราะเหตุนั้นหรือกระทำการอย่างอื่นซึ่งบริษัทจำเลยพิจารณาเห็นสมควรเลิกจ้างโดยมิต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ลาออกเองโดยไม่ถูกไล่ออกหรือเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงไม่ถูกตัดสิทธิมิให้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้อ ๑ ระบุวัตถุประสงค์ในการจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้มีสาระสำคัญว่ามีวัตถุประสงค์จ่ายให้แก่พนักงานทุกคนหลังจากทำงานครบ ๕ ปี ไม่มีข้อจำกัดว่าพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดังนั้นแม้โจทก์เป็นกรรมการและมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์คงเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
พิพากษายืน.