แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ลานายจ้างไปศึกษาต่างประเทศโดยรับเงินเดือนระหว่างลามีสัญญาว่าถ้าไม่กลับมาทำงานตามเดิมจะคืนเงินและปรับอีก 1 เท่าของเงินเดือนระหว่างลา ศาลลดเบี้ยปรับลงได้
ย่อยาว
จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ลาไปศึกษาต่างประเทศรับเงินเดือนเต็มระหว่างลา จำเลยรายงานเท็จว่ายังไม่จบการศึกษา โจทก์สั่งให้จำเลยออกจากงานศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นพนักงานกับผู้ค้ำประกันร่วมกันใช้เงิน135,918 บาทกับดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ใช้เงินเดือน 67,959 บาทค่าปรับอีก 10,000 บาท กับดอกเบี้ยโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาเกี่ยวกับเงินเดือนที่โจทก์จ่ายให้จำเลยที่ 1 ระหว่างลาไปศึกษาต่อจำนวน 67,959 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้คืนให้โจทก์นั้นเป็นอันยุติ คงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าปรับให้โจทก์เพิ่มอีก 57,959 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ออกจากงาน อ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่กลับมาทำงานกับโจทก์เมื่อศึกษาสำเร็จและจำเลยที่ 1 รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาคือโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ได้มีหนังสือถึงโจทก์ 2 ฉบับ ฉบับแรกชี้แจงข้อเท็จจริงให้โจทก์ทราบถึงเหตุที่จำเลยยังไม่กลับเข้าทำงานกับโจทก์มีใจความว่า เนื่องจากภริยาจำเลยที่ 1 คลอดบุตรต้องพักฟื้นและรอทำหนังสือเดินทางให้บุตรอีก 4 เดือนจึงจะเดินทางกลับประเทศไทยได้ ส่วนฉบับที่สองขอกลับเข้าทำงานกับโจทก์อ้างเหตุเช่นเดิม และว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รายงานเท็จ ซึ่งโจทก์มีหนังสือตอบถึงจำเลยที่ 1 ยืนยันคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากงานและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่า สำหรับเงินเดือนที่โจทก์จ่ายให้ตลอดระยะเวลาที่ลาไปศึกษานั้น ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายคืน โจทก์จะไม่รวมค่าปรับอีกหนึ่งเท่า โดยชำระเป็นจำนวนเงินทั้งหมดในครั้งเดียว ดังนี้ แสดงว่าเมื่อโจทก์ได้รับหนังสือจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาว่าจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้ว โจทก์ก็มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ออกจากงานทันทีโดยไม่รอฟังคำชี้แจงของจำเลยที่ 1 ครั้นจำเลยที่ 1 มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ โจทก์ก็ผ่อนผันให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเดือนที่โจทก์จ่ายให้ตลอดระยะเวลาที่ลาไปศึกษาคืนทั้งหมดในครั้งเดียวโดยจะไม่คิดค่าปรับรวมด้วยแต่เมื่อจำเลยไม่ชำระเงินเดือนคืนให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินเดือนคืนพร้อมค่าปรับอีกหนึ่งเท่า ซึ่งเมื่อได้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าปรับให้โจทก์เป็นเงิน 10,000บาท จึงเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว”
พิพากษายืน