คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1426/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน ปรากฏว่า วันที่ 31 มีนาคม 2529 เป็นวันจ่ายค่าจ้างเมื่อโจทก์รับค่าจ้างและเลิกงานเวลาประมาณ 17 นาฬิกา โจทก์ไปรับประทานอาหารกับเพื่อนแล้วโดยสารรถยนต์กลับจังหวัดสมุทรสงครามเมื่อเวลาประมาณ 22 นาฬิกา และถึงบ้านเมื่อเวลาประมาณ 23 นาฬิกาเศษ โจทก์ไม่เคยบอกเรื่องการป่วยของภรรยาโจทก์ให้ผู้ใดทราบ โจทก์เพิ่งนำภรรยาไปให้แพทย์ตรวจเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2529 แล้วพากลับบ้าน แสดงว่ามิได้ป่วยหนักพฤติการณ์เช่นนี้ยังไม่เป็นเหตุอันควรที่จำเลยจะหยุดงานได้โดยไม่ต้องขอลาหยุดต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้าง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยทั้งสอง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยจำนวน 21,900 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า วันที่ 1 ถึงวันที่ 3 เมษายน2529 โจทก์ขาดงานเป็นเวลาสามวันติดต่อกันโดยมิได้บอกกล่าวลางานกับผู้ใด จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ การขาดงานดังกล่าวเป็นการที่โจทก์จงใจละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นผลให้จำเลยได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงกิจการและไม่สามารถส่งงานที่ได้รับจ้างให้แก่ลูกค้าได้ตามกำหนด เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายเป็นเงิน 25,000 บาท จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้ลางานแล้วจึงมิใช่การขาดงาน มิได้ทำความเสียหายให้แก่จำเลยและจำเลยมิได้รับความเสียหาย
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘คดีมีปัญหาในชั้นนี้เพียงประการเดียวว่า การละทิ้งหน้าที่ของโจทก์เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันนั้นมีเหตุอันสมควรหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์หยุดงานเพื่อไปเยี่ยมภรรยาซึ่งป่วยเป็นอัมพฤกษ์ที่จังหวัดสมุทรสงครามด้วยความเป็นห่วงอันก่อให้เกิดขวัญ กำลังใจและความอบอุ่นแก่ภรรยาการกระทำของโจทก์จึงชอบด้วยเหตุผล การหยุดงานของโจทก์จึงมีเหตุอันควรตามกฎหมาย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางเป็นยุติว่า วันที่ 31 มีนาคม 2529 เป็นวันจ่ายค่าจ้างเมื่อโจทก์รับค่าจ้างและเลิกงานเวลาประมาณ 17 นาฬิกาโจทก์ไปรับประทานอาหารกับเพื่อนแล้วโดยสารรถยนต์กลับจังหวัดสมุทรสงครามเมื่อเวลาประมาณ 22 นาฬิกา และถึงบ้านเมื่อเวลาประมาณ 23 นาฬิกาเศษ โจทก์ไม่เคยบอกเรื่องการป่วยของภรรยาโจทก์ให้ผู้ใดทราบ โจทก์เพิ่งนำภรรยาไปให้แพทย์ตรวจเมื่อวันที่2 เมษายน 2529 แล้วพากลับบ้านแสดงว่ามิได้ป่วยหนัก ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์ที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมานั้นยังไม่เป็นเหตุอันควรที่จำเลยจะหยุดงานได้โดยไม่ต้องขอลาหยุดต่อจำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) ซึ่งจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์…’
พิพากษายืน.

Share