คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3685/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้ามีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ ต้องพิจารณาความหมายของคำในเครื่องหมายการค้าประกอบกับตัวสินค้าที่ยื่นขอจดทะเบียน โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า LASERJET ซึ่งเป็นคำประดิษฐ์จากการผสมคำ เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 2 ประเภทหมึกที่บรรจุในตลับคาร์ทริดจ์สำหรับเครื่องถ่ายเอกสารและเครื่องพิมพ์ โดยคำว่า LASER มีความหมายว่า คลื่นแสงที่ขยายกำลังแต่ถูกส่งออกมาเป็นลำแสงที่แคบอาจเรียกว่า ลำแสงเลเซอร์ ส่วนคำว่า JET แปลความหมายได้ว่า ของเหลว แก๊ส หรือฝุ่นที่พ่นออกมาเป็นลำ คำว่า LASERJET จึงมิได้หมายความเพียงว่า ของเหลวที่พุ่งออกมาดังที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัย แต่เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงว่า สินค้าผงหมึกของโจทก์มีลักษณะการทำงานด้วยการพ่นออกมาเป็นลำคล้ายแสงเลเซอร์ไม่ว่าจะพ่นเป็นแสง ของเหลว ผง หรือฝุ่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)
โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า LASERJET กับเครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ ทั้งได้โฆษณาเผยแพร่และจำหน่ายสินค้าเครื่องพิมพ์กับหมึกพิมพ์ในประเทศไทยมานานจนสาธารณชนในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า LASERJET ของโจทก์แตกต่างจากสินค้าหมึกพิมพ์ของผู้อื่น เครื่องหมายการค้า LASERJET จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้า คำว่า “LASERJET” ตามคำขอเลขที่ 464131 เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและให้จำเลยดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 495/2546 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “LASERJET” ตามคำขอเลขที่ 464131 ของโจทก์ต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “LASERJET” มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยลักษณะของเครื่องหมายการค้านั้นเองหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “LASERJET” เป็นคำประดิษฐ์จากการผสมคำเป็นคำๆเดียว แต่คำดังกล่าวเมื่อพิจารณาจากทางนำสืบและพยานหลักฐานของโจทก์กับจำเลยแล้วสามารถแยกแปลความหมายออกได้ โดยคำว่า LASER มีความหมายว่า คลื่นแสงที่ขยายกำลังแต่ถูกส่งออกมาเป็นลำแสงที่แคบอาจเรียกว่าลำแสงเลเซอร์ ส่วนคำว่า JET อาจแปลความหมายว่า ของเหลว แก๊ส หรือฝุ่นที่พ่นออกมาเป็นลำ ดังนั้น คำว่า LASERJET จึงมิได้มีความหมายเพียงว่าของเหลวที่พุ่งออกมาดังที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยเท่านั้น อย่างไรก็ดีแม้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะแปลความหมายของคำไม่ครบถ้วน แต่การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาความหมายของคำในเครื่องหมายการค้ากับตัวสินค้าที่ยื่นขอจดทะเบียน กล่าวคือสินค้าหมึกที่บรรจุในตลับคาร์ทริดจ์ใช้กับเครื่องถ่ายเอกสารและเครื่องพิมพ์ หมึกพิมพ์ของโจทก์มีลักษณะเป็นผงถือได้ว่าเป็นฝุ่นที่พ่นออกมาเป็นลำคล้ายแสงเลเซอร์ จึงเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงว่าสินค้าผงหมึกของโจทก์มีลักษณะการทำงานด้วยการพ่นออกมาเป็นลำคล้ายแสงเลเซอร์ไม่ว่าจะพ่นเป็นแสง ของเหลว เป็นผง หรือเป็นฝุ่นก็ตาม เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงโดยลักษณะของเครื่องหมายการค้านั้นเอง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยลักษณะของเครื่องหมายการค้านั้นเอง ตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “LASERJET” มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 บัญญัติว่า ชื่อ คำ หรือข้อความที่ไม่มีลักษณะตาม (1) หรือ (2) หากได้มีการจำหน่ายเผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้ว ก็ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ ในเรื่องนี้ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งใช้บังคับอยู่ขณะที่มีการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ 464131 ก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะว่า สินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาในประเทศไทยจนทำให้สาธารณชนในประเทศไทย รู้จักและเข้าใจว่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าหรือบริการอื่น ซึ่งเกี่ยวกับการพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้นี้ โจทก์มีนางสาวประอร และนายเริงชัย พนักงานบริษัทเอกชนซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานของบริษัทเอกชนในด้านคอมพิวเตอร์ ที่ต้องใช้เครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์มาให้ถ้อยคำและเบิกความเป็นพยานยืนยันว่า พยานทำงานมาหลายบริษัท ได้รู้จักสินค้าเครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “LASERJET” ของบริษัทโจทก์ในประเทศไทยมามากกว่า 10 ปี เครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ยี่ห้อ “LASERJET” มีใช้อยู่ในบริษัทที่พยานเคยทำงานและที่ทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะเครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “LASERJET” ของบริษัทโจทก์ ไม่มีบริษัทอื่นนอกจากบริษัทโจทก์ที่ใช้เครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “LASERJET” โจทก์ยังมีนางสาวพจนารถ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดของบริษัทฮิวเลตต์ – แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทโจทก์ให้ถ้อยคำและเบิกความเป็นพยานว่า ในประเทศไทยโจทก์มีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละปีงบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับหมึกพิมพ์ของโจทก์คิดเป็นเงินประมาณ 60,000,000 บาท สินค้าหมึกพิมพ์นั้นต้องใช้ควบคู่กันไปกับเครื่องพิมพ์ ดังนั้น การโฆษณาหมึกพิมพ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า LASERJET จึงทำควบคู่ไปกับเครื่องพิมพ์ โดยโฆษณาตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโบร์ชัวร์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การประชาสัมพันธ์สินค้าตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศและการตกแต่งหน้าร้าน ตามเอกสารที่ใช้ประกอบโฆษณาเครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์รุ่นต่าง ๆ ในสื่อประเภทต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลา โบรชัวร์ส่งเสริมการขายเครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์รุ่นต่าง ๆ แผ่นซีดีแสดงภาพถ่ายกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้า ตัวอย่างภาพถ่ายหน้าร้านแสดงสินค้า ใบเรียกเก็บเงินจากบริษัทโฆษณาจำนวน 1 เล่ม กับโจทก์ยังมีเว็บไซต์ของโจทก์ที่ URL http://hp.co.th ซึ่งผู้ใช้จากทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าชมผลิตภัณฑ์ของโจทก์ รวมถึงผลิตภัณฑ์หมึกพิมพ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “LASERJET” ตามภาพถ่ายจากเว็บไซต์ จำนวน 1 เล่ม นายธิปไตย ผู้จัดการธุรกิจผลิตภัณฑ์ของบริษัทโจทก์ให้ถ้อยคำและเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า โจทก์มีผู้ค้าส่งสินค้าเครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ของโจทก์เป็นผู้ค้าส่งรายใหญ่ จำนวน 4 ราย ซึ่งผู้ค้าส่งดังกล่าวได้จำหน่ายสินค้าเครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ของโจทก์ให้แก่ผู้ค้ารายย่อยซึ่งมีหลายพันรายทั่วประเทศไทยอีกต่อหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีผู้จำหน่ายสินค้าซึ่งสั่งซื้อสินค้าจากผู้ค้ารายย่อยไปจำหน่ายอีกต่อหนึ่งเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคต่อไป… ในท้องตลาดไม่มีผู้ผลิตอุปกรณ์การพิมพ์ชั้นนำรายใดที่ใช้เครื่องหมายการค้า “LASERJET” เช่นเดียวกับโจทก์ กับโจทก์ยังมีพจนานุกรมที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์หลายเล่มที่แสดงว่าสินค้าเครื่องพิมพ์ภายใต้เครื่องหมาย “LASERJET” นั้น เป็นสินค้าของโจทก์และได้ถูกใช้มานานจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย เช่น พจนานุกรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตซึ่งระบุถึงคำว่า “LASERJET” ไว้ว่า หมายถึงเลเซอร์เจ๊ต เป็นเครื่องพิมพ์เลเซอร์ตระกูลที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ผลิตโดยบริษัทโจทก์ พจนานุกรม The Computer Glossary ซึ่งระบุถึงคำว่า “LASERJET” ไว้ว่า หมายถึง เป็นเครื่องพิมพ์เลเซอร์ตั้งโต๊ะรุ่นหนึ่ง เอชเอชพี เลเซอร์เจ๊ท เครื่องแรกวางตลาดในปี 2527 ราคา 3,495 ดอลลาร์สหรัฐ พจนานุกรม Prentice Hall’s illustrated Dictionary of Compution ซึ่งระบุถึงคำว่า “LASERJET” ไว้ว่า หมายถึง เครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งใช้กับเครื่องพิมพ์เลเซอร์จำนวนหนึ่ง และในพจนานุกรม Random House Webster’s Computer & Internet Dictionary ระบุถึงโจทก์ว่าเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง และเป็นที่รู้จักทั่วไป ในปัจจุบันในด้านเครื่องพิมพ์ LASERJET และ DESKJET แม้ตามพจนานุกรมต่างๆ ดังกล่าวได้กล่าวถึงแต่เครื่องพิมพ์ แต่พยานโจทก์ปากต่าง ๆ ดังกล่าวก็ได้ให้ถ้อยคำและเบิกความยืนยันว่าโจทก์จะขายสินค้าเครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ควบคู่กันไป เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งถึงข้อที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า LASERJET กับสินค้าหมึกพิมพ์ในลักษณะดังกล่าว และพยานหลักฐานของโจทก์ก็มีเหตุมีผลและมีความสอดคล้องต้องกันไม่ปรากฏข้อพิรุธ จึงมีความน่าเชื่อถือ ฟังได้ว่า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า LASERJET กับทั้งเครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์และได้โฆษณาเผยแพร่ และจำหน่ายซึ่งสินค้าเครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนทำให้สาธารณชนในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าหมึกพิมพ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า LASERJET ของโจทก์ดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าหมึกพิมพ์ของผู้อื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “LASERJET” ของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 2 ประเภทหมึกที่บรรจุในตลับคาร์ทริดจ์ใช้กับเครื่องถ่ายเอกสารและเครื่องพิมพ์มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 คำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 495/2546 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “LASERJET” ตามคำขอเลขที่ 464131 ของโจทก์ต่อไป นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share