แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 24 เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 แล้ว จึงต้องถือว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะวินิจฉัยคำร้องของจำเลยดังกล่าวในรูปแบบของคำพิพากษาก็ตาม แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งคำร้องขอให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นของจำเลยดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยังต้องพิจารณาต่อไป เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ลงชื่อผู้อุทธรณ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อนแล้วมีคำสั่งใหม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่จำเลยฎีกาขอให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นอีก จึงเป็นฎีกาคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 196
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157 และ 337 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ประทับฟ้องไว้พิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ วันที่ 24 ธันวาคม 2557 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์ที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ โดยโจทก์ที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ครั้นวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องว่าโจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2558 โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรโจทก์ที่ 2 ขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 (ที่ถูก ขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 29) ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วได้ความว่า โจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2558 และโจทก์ที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์ก่อนที่โจทก์ที่ 2 จะถึงแก่ความตาย จำเลยไม่คัดค้านในการที่โจทก์ที่ 1 ขอดำเนินคดีต่างผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 แล้ว ให้ส่งคำร้องของโจทก์ที่ 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาสั่ง ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 จำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นอ้างว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 (ที่ถูก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18) เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ผู้ลงชื่ออุทธรณ์ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว จึงไม่สามารถลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ได้ และทนายโจทก์ที่ 2 ก็ไม่มีอำนาจลงชื่อในฐานะผู้เรียงและพิมพ์อุทธรณ์ได้ เนื่องจากสัญญาแต่งตั้งตัวแทนตามใบแต่งทนายได้ระงับไปแล้ว แม้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ไว้ ก็ไม่ทำให้เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้สืบสันดานของโจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีต่างโจทก์ที่ 2 ผู้ตายได้ และไม่สามารถยื่นคำร้องขอรับมรดกความได้เพราะคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวบรวมส่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต่อมาจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตามคำร้องของจำเลยว่า โจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตายก่อนยื่นอุทธรณ์ แต่อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 มีตัวโจทก์ที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลชั้นต้นผู้ตรวจรับอุทธรณ์ชอบที่จะสั่งแก้ไขเสียให้ถูกต้อง หรือไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ไว้ดำเนินการต่อมาจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการเขียนและยื่นคำคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไข ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีต่างโจทก์ที่ 2 ผู้ตาย และศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้วส่งมาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งนั้น เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 จึงไม่อยู่ในอำนาจศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่จะมีคำสั่ง แต่เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งต่อไป พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ที่ 2 และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ให้ลงชื่อผู้อุทธรณ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อนแล้วมีคำสั่งใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 แล้ว จึงต้องถือว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะวินิจฉัยคำร้องของจำเลยดังกล่าวในรูปแบบของคำพิพากษาก็ตาม แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งคำร้องขอให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นของจำเลยดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยังต้องพิจารณาต่อไป เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ลงชื่อผู้อุทธรณ์ให้ถูกต้อง ตามกฎหมายเสียก่อนแล้วมีคำสั่งใหม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่จำเลยฎีกาขอให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นอีก จึงเป็นฎีกาคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 196 ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย