คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14225/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โฉนดที่ดินเป็นเพียงเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มิใช่ตัวที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก ดังนั้นการที่ ก. ครอบครองโฉนดที่ดินจึงไม่ใช่เป็นการครอบครองทรัพย์มรดก ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสี่จะอ้างว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกจึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกแม้ว่าจะพ้นสิบปีนับแต่ ล. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ไม่ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของ ล. กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่จัดการมรดกถูกต้องหรือไม่ เพราะแม้จำเลยจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
ที่โจทก์ทั้งสี่อ้างในฎีกาอีกว่าอายุความสิบปีสะดุดหยุดลงเพราะจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของ ฆ. แล้ว โจทก์ทั้งสี่ก็มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างให้ชัดแจ้งว่าข้อฎีกาดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมายใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 6262, 8349, 8353, 8354, 8560, 8561, 8565, 8568, 8570 และ 11433 ตำบลจำปา (ท่าแดง) อำเภอท่าเรือ (นครน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2545 และเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11499 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2546 ระหว่างจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายโฆสิตกับนางสังเวียน ให้จำเลยโอนที่ดินดังกล่าวใส่ชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายโฆสิตเจ้ามรดกตามเดิม เพื่อนำมาแบ่งให้แก่ทายาทตามส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงแทนเจตนาของจำเลยและหากไม่ปฏิบัติตามที่กล่าวข้างต้นให้จำเลยชำระเงินจำนวน 34,140 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน โฉนดเลขที่ 6262, 8349, 8353, 8354, 8560, 8561, 8565, 8568, 8570 และ 11433 ตำบลจำปา (ท่าแดง) อำเภอท่าเรือ (นครน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2545 และโฉนดเลขที่ 11499 ตำบลจำปา (ท่าแดง) อำเภอท่าเรือ (นครน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2546 ระหว่างจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายโฆสิตกับนางสังเวียน โดยให้จำเลยโอนที่ดินดังกล่าวกลับมาใส่ชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายโฆสิตตามเดิม เพื่อนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาทตามส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถ้าไม่อาจปฏิบัติได้ให้จำเลยชำระเงิน 34,140 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้โจทก์ทั้งสี่ 12,796.50 บาท และคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินให้จำเลย 12,796.50 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกมล โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกมลกับโจทก์ที่ 1 นายกมลเป็นบุตรของนายลี่และนางสังเวียนซึ่งเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย นายลี่และนางสังเวียนมีบุตรด้วยกัน 8 คน คือ นางพรพิมล นายกมล นายทนง นางกุลกัญญา นางดารา จำเลย นายชโลมและนายโฆสิต เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2529 นายโฆสิตถึงแก่ความตายโดยไม่มีภริยาและบุตร มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 11 แปลง คือ ที่ดินพิพาทในคดีนี้ นายลี่เป็นผู้จัดการมรดกของนายโฆสิตตามคำสั่งศาล ได้ใส่ชื่อตนในฐานะผู้จัดการมรดกในโฉนดที่ดินพิพาททั้ง 11 แปลง โดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาท ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2534 นายลี่ถึงแก่ความตาย นางสังเวียนยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายโฆสิต ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายโฆสิตเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 จากนั้นจำเลยได้โอนที่ดินพิพาททั้ง 11 แปลง ให้แก่นางสังเวียนแต่ผู้เดียว ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2546 นายกมลถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสี่จึงฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิของนายกมล
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ไม่ขาดอายุความเพราะขณะนายกมลถึงแก่ความตาย นายกมลเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกกล่าวคือ โฉนดที่ดินพิพาททั้ง 11 ฉบับ อยู่ในความครอบครองของนายกมล จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี” เห็นว่า โฉนดที่ดินเป็นเพียงเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มิใช่ตัวที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก ดังนั้น การที่นายกมลครอบครองโฉนดที่ดินจึงไม่ใช่เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกตามความหมายของมาตรา 1748 โจทก์ทั้งสี่จะอ้างว่านายกมลครอบครองทรัพย์มรดกจึงมีสิทธิ์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกแม้ว่าจะพ้นสิบปีนับแต่นายลี่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าเมื่อนายกมลไม่มีสิทธิจะฟ้องเรียกมรดกของนายลี่เพราะพ้นกำหนดสิบปีนับแต่นายลี่ เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจากนายกมลย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกมรดกของนายลี่ไปด้วยจึงชอบแล้ว และเมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของนายลี่ กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่จัดการมรดกถูกต้องหรือไม่ เพราะแม้จำเลยจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาในตอนท้ายว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ไม่ขาดอายุความห้าปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจึงไม่เป็นสาระที่ต้องวินิจฉัย และที่โจทก์ทั้งสี่อ้างในฎีกาอีกว่าอายุความสิบปีสะดุดหยุดลงเพราะจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายโฆสิตแล้ว โจทก์ทั้งสี่ก็มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างให้ชัดแจ้งว่าข้อฎีกาดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมายใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share