แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องแย้งของจำเลยอ้างว่าจำเลยใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าและโฆษณามาก่อนโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และมีคำขอให้โจทก์โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้แก่จำเลย กับห้ามโจทก์ใช้หรือขอ จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยมิได้ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพื่อให้เกิดผลให้โจทก์สิ้นสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนไว้ตามวัตถุประสงค์ของจำเลยและตามที่จำเลยมีสิทธิขอให้ศาลบังคับได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 เป็นการพิพากษาปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องและตรงตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้จากรายละเอียดของฟ้องแย้ง จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26
เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 อีกต่อไปแต่จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า “CORAL” ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกตามที่โจทก์จดทะเบียนไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยสำหรับสินค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นได้ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของบุคคลซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 44 เท่านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาท จึงไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” ซึ่งได้จดทะเบียนไว้สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๑ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้แก่ เครื่องสุขภัณฑ์ต่าง ๆ คือ โถส้วมชักโครก โถส้วมนั่งยอง อ่างล้างหน้า ฯลฯ โดยโจทก์ผลิตสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ดังกล่าวออกจำหน่ายมาหลายปีจนแพร่หลาย จำเลยได้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ประเภทเดียวกันโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า “CORAL” เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาต และยังได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๑ เช่นเดียวกัน ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า “CORAL” ห้ามจำเลยใช้หรือเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวหรือเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงและขอให้จำเลยทำลายเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่อยู่บนสินค้าที่จำเลยผลิต
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” โจทก์ไม่เคยผลิตสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์โดยใช้เครื่องหมายการค้านี้ จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า “CORAL” โดยเมื่อปี ๒๕๓๕ จำเลยได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งประกอบด้วยคำว่า “CORAL” กับรูปรอยประดิษฐ์เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๙ คือ กระเบื้องเคลือบปูพื้นและบุผนัง ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลยแล้ว จากนั้นจำเลยได้ผลิตสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์โดยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวออกจำหน่าย เช่น โถส้วม อ่างล้างหน้า จานสบู่ ฯลฯ โดยจำเลยได้โฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจนแพร่หลายทั่วไป จำเลยจึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์ แต่ต่อมาโจทก์ได้ดัดแปลงเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวแล้วนำไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า “KORAL” ใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๑ และโจทก์ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๑ เช่นกัน เป็นเหตุให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต่อมาจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า “CORAL” สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๑ คือ เครื่องสุขภัณฑ์ต่าง ๆ แต่ในที่สุดนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียน เพราะเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ดังกล่าวข้างต้น ทั้งโจทก์ได้ข่มขู่ลูกค้าและตัวแทนจำหน่ายสินค้าของจำเลยเพื่อไม่ให้ซื้อสินค้าของจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย กล่าวคือ จำเลยได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงทางการค้า ขาดประโยชน์ที่ควรได้จากการขายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยค่าเชื้อเพลิง และค่าไฟฟ้าในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ค่าภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้า ค่าเปิดและจุดเตาเผาสำหรับสินค้าจำพวกกระเบื้องดินเผา ค่าจ้างคนงานและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจของโรงงานในช่วง ๔ เดือน ก่อนปิดโรงงานกระเบื้องดินเผา และค่าจ้างคนงานในช่วงที่ปิดโรงงานกระเบื้องดินเผาแล้ว แต่ได้โอนย้ายคนงานไปทำงานในโรงงานส่วนอื่นรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยขอคิดเพียง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ให้โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้า คำว่า “KORAL” และ “CORAL” แก่จำเลย หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ห้ามโจทก์ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว ห้ามโจทก์ใช้ ขอจดทะเบียน คัดค้านการจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกต่อไป ให้โจทก์ทำลายรูปรอยเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่สินค้าของโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่จำเลย และใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ ๒,๘๕๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะหยุดทำละเมิดต่อจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นผู้ประดิษฐ์ ใช้ และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” และ “KORAL” โดยสุจริต กรณีที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑๙ เป็นสินค้าคนละจำพวกกับสินค้าจำพวกที่ ๑๑ โจทก์ไม่เคยข่มขู่ลูกค้าของจำเลยหรือทำละเมิดต่อจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” ทะเบียนเลขที่ ค ๖๐๑๐๖ และเครื่องหมายการค้าคำว่า “KORAL” ทะเบียนเลขที่ ค ๖๐๑๓๑ ของโจทก์ ห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายนี้ต่อไป คำขออื่นตามคำฟ้องแย้งของจำเลยนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๓๙ ทะเบียนเลขที่ ค ๖๐๑๐๖ และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “KORAL” เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙ ทะเบียนเลขที่ ค ๖๐๑๓๑ สำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑๑ รายการสินค้า เครื่องสุขภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น โถส้วม อ่างล้างหน้า ฯลฯ ส่วนจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งประกอบด้วยคำว่า “CORAL” กับรูปรอยประดิษฐ์เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๕ สำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑๙ รายการสินค้า กระเบื้องเคลือบปูพื้นและบุฝาผนัง จำเลยผลิตและจำหน่ายกระเบื้องเคลือบปูพื้นและบุฝาผนังตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ โดยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่จดทะเบียนไว้ดังกล่าว ต่อมาวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” กับรูปรอยประดิษฐ์ของจำเลยสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๑ รายการสินค้า เครื่องสุขภัณฑ์ เช่น โถส้วม อ่างล้างหน้า ฯลฯ แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวเหมือนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” และ “KORAL” ของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนสำหรับสินค้าในจำพวกเดียวกันไว้ก่อนแล้ว จึงไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” รวมทั้งเครื่องหมายการค้าคำว่า “KORAL” และเครื่องหมายการค้ารูปประดิษฐ์ที่พิพาทดีกว่ากัน ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้ผลิตและขายสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปประดิษฐ์ของจำเลยจนมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปมาก่อนโจทก์ ดังนี้ แม้ต่อมาโจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” และ “KORAL” ของโจทก์สำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑๑ คือเครื่องสุขภัณฑ์ไว้แล้วก็ตาม จำเลยก็มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าว รวมทั้งเครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” และเครื่องหมายการค้าคำว่า “KORAL” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันดีกว่าโจทก์
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คดีนี้จำเลยมิได้มีคำขอท้ายฟ้องแย้งขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” ทะเบียนเลขที่ ค ๖๐๑๐๖ และเครื่องหมายการค้าคำว่า “KORAL” ทะเบียนเลขที่ ค ๖๐๑๓๑ ของโจทก์ด้วย จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องแย้งนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายในห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดตามมาตรา ๔๐ ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ หากแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น และตามคำฟ้องแย้งจำเลยก็กล่าวอ้างว่าจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า “CORAL” ของจำเลยกับสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ นำออกจำหน่ายและโฆษณาแพร่หลายก่อนโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยจึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าโจทก์อันเป็นการกล่าวอ้างถึงเงื่อนไขในการขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามมาตรา ๖๗ ดังกล่าวไว้ครบถ้วนแล้ว แม้ตามคำฟ้องแย้งของจำเลยจะไม่ได้มีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยตรงก็ตาม แต่การที่จำเลยมีคำขอให้โจทก์โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ให้แก่จำเลยกับห้ามโจทก์ใช้หรือขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เมื่อพิจารณาประกอบคำฟ้องแย้งที่อ้างว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าโจทก์แล้ว ก็ล้วนแสดงให้เห็นเป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยมีเจตนาต้องการให้โจทก์ไม่อยู่ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” และ “KORAL” ที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ สำหรับสินค้าจำพวกที่ ๑๑ คือ เครื่องสุขภัณฑ์อีกต่อไป ซึ่งเป็นกรณีต้องปรับบทกฎหมายบังคับให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามมาตรา ๖๗ ดังกล่าวแล้วนั่นเอง โดยเฉพาะคำขอตามคำฟ้องแย้งที่ขอให้โจทก์โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนไว้ให้แก่จำเลยนั้นก็มีความหมายให้เห็นได้ว่าเป็นวิธีการที่ทำให้โจทก์ต้องสิ้นสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนไว้เป็นผลประการแรกและทำให้จำเลยได้รับสิทธินั้นมาเป็นของจำเลยเป็นผลประการที่สองอยู่ในตัว ดังนี้ เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิขอให้บังคับโจทก์โอนสิทธิให้จำเลยเพื่อให้เกิดผลประการที่สองได้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้เกิดผลที่ทำให้โจทก์สิ้นสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนไว้อันเป็นผลประการแรกตามวัตถุประสงค์ในคำขอของจำเลยดังกล่าวตามที่จำเลยมีสิทธิที่จะขอให้ศาลบังคับให้ได้ตามกฎหมายเท่านั้น จึงเป็นการพิพากษาโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องและตรงตามวัตถุประสงค์ที่ปรากฏเป็นที่เข้าใจได้จากรายละเอียดของสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามคำฟ้องแย้งของจำเลยดังกล่าวแล้ว ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ แต่อย่างใด
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” และ “KORAL” ตามคำขอในคำฟ้องแย้งของจำเลยมาด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๔ อีกต่อไป และคดีนี้ที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้ห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับของจำเลยนั้น เป็นการฟ้องในข้อหาการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลย แต่ปรากฏว่าจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๑ ตามที่โจทก์จดทะเบียนไว้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยสำหรับสินค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง เพราะสิทธิดังกล่าวนี้เป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของบุคคลซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๔๔ เท่านั้น คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอตามคำฟ้องแย้งของจำเลยที่ให้ห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “CORAL” และเครื่องหมายการค้าคำว่า “KORAL” เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.