คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1420/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นซึ่งหน้าโดยมิใช่เป็นการกระทำของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว แต่เป็นการที่ทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นซึ่งหน้าโต้ตอบซึ่งกันและกันดังนี้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2530 เวลากลางวัน จำเลยกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8747/2530 ของศาลชั้นต้นได้สมัครใจกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นซึ่งกันและกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ปรับ 800 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องจะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่าความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้านั้นกฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้ที่ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าแต่ฝ่ายเดียวโดยที่ผู้ถูกดูหมิ่นนั้นมิได้กล่าวถ้อยคำดูหมิ่นโต้ตอบด้วย การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่8747/2530 ของศาลชั้นต้นต่างสมัครใจกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นซึ่งกันและกันจึงเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างด่าโต้ตอบกัน การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393จะนำหลักวินิจฉัยในกรณีที่ต่างทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันมาปรับแก่คดีนี้ดังที่โจทก์ฎีกาหาได้ไม่…”
พิพากษายืน.

Share