แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เอกสารที่ผู้ตายทำไว้ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นพินัยกรรมหรือแสดงถึงเจตนาของผู้ตายในการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินว่า ให้เกิดผลบังคับเมื่อตนถึงแก่ความตายไปแล้วเลยแม้เอกสารดังกล่าวจะมีข้อความว่า ‘เวลาทำหนังสือฉบับนี้มีสติสัมปชัญญะดีเป็นปกติดี’ ก็ดี หรือ ‘ขอเจตนาครั้งสุดท้าย’ ก็ดีก็หาทำให้แปลความได้ว่าผู้ตายมีเจตนาที่จะยกทรัพย์ของตนให้เมื่อตนถึงแก่ความตายไปแล้วไม่. ข้อความในตอนท้ายของเอกสารที่ว่า ‘ข้าพเจ้าขอยกให้ (ระบุชื่อผู้รับ) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป’กลับแสดงแจ้งชัดว่าผู้ตายเจตนาที่จะยกทรัพย์ให้แก่ผู้รับทันทีในระหว่างที่ตนยังมีชีวิต เอกสารดังกล่าวจึงไม่ใช่พินัยกรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ก่อนพระครูสมุทรสุนทรอุปสมบท พระครูสมุทรสุนทรได้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายอินทร์ ในที่ดินเนื้อที่ 22 ไร่เศษ ตามโฉนดที่ 3710 เมื่อพระครูสมุทรสุนทรถึงแก่มรณภาพมิได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่ทำแต่หนังสือยกที่ดินให้จำเลยโดยไม่จดทะเบียน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เป็นหลานเจ้ามรดกและเป็นทายาทอันดับเดียวกับจำเลยมีสิทธิได้รับมรดกคนละครึ่ง โจทก์ขอแบ่งแล้ว จำเลยไม่ยินยอม จึงขอให้ศาลบังคับ หากบังคับให้แบ่งไม่ได้ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาโดยลงชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยคนละครึ่ง
จำเลยให้การว่า พระครูสมุทรสุนทรมรณภาพแล้ว จำเลยทราบว่าพระครูสมุทรสุนทรได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้จำเลยแต่ผู้เดียว กับตัดฟ้องว่า ฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 172 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
วันนัดชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับกันว่าที่พิพาทโฉนดที่ 3710เป็นทรัพย์ที่พระครูสมุทรสุนทรได้มาก่อนอุปสมบท และพระครูสมุทรสุนทรได้ทำหนังสือฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2510 ยกที่พิพาทส่วนของท่านให้แก่จำเลย ซึ่งโจทก์ว่าเป็นการยกให้ที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่จำเลยเถียงว่าเป็นพินัยกรรม แล้วคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่สืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยต้นฉบับหนังสือที่โต้เถียงกันนั้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม หนังสือที่พระครูสมุทรสุนทรทำไว้ไม่ใช่พินัยกรรม แต่เป็นหนังสือยกให้โดยเสน่หามิได้จดทะเบียนจึงไม่มีผลตามกฎหมาย พิพากษาให้จำเลยยอมให้โจทก์ลงชื่อรับมรดกถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินที่พิพาทหนึ่งในหกส่วน ถ้าจำเลยไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยมีผู้พิพากษานายหนึ่งทำความเห็นแย้ง
จำเลยฎีกาโต้เถียงมา 2 ประเด็น คือ ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมส่วนประเด็นหลังเห็นว่าเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่า “หนังสือฉบับนี้ของพระครูสมุทรสุนทร (แขก) เจ้าอาวาสวัดพวงมาลัยเจ้าคณะตำบลแม่กลองอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
เขียนที่วัดพวงมาลัย
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510
ข้าพเจ้าพระครูสมุทรสุนทร (แขก) เจ้าอาวาสวัดพวงมาลัยเจ้าคณะตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม องค์ปัจจุบันเวลานี้มีอายุ 85 ปี พรรษา 65 เวลาทำหนังสือฉบับนี้มีสติสัมปชัญญะดี เป็นปกติดี ขอเจตนาครั้งสุดท้าย ข้าพเจ้าขอยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3710 ตำบลลาดใหญ่ (แม่กลอง) อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีชื่อข้าพเจ้ากับนางเชยมีส่วนคนละครึ่งเท่า ๆ กัน เฉพาะส่วนของข้าพเจ้าซีกข้างตะวันออกตั้งแต่ริมคลองบางประจันต์ขึ้นไปถึงที่สุดปลายที่เป็นเนื้อที่ห้าซีกประมาณ 11 ไร่เศษ ข้าพเจ้ายกให้นางใจ กลั่นแสง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดจะมาโจทกนาร้องฟ้องเอาที่รายนี้เป็นของ ๆ ตนไม่ได้เป็นอันขาด
ข้าพเจ้าได้ฟังความในหนังสือนี้เข้าใจความตลอดแล้ว จึงได้เซ็นชื่อไว้ต่อหน้าพยานไว้เป็นสำคัญ
ลงชื่อ พระครูสมุทรสุนทร ผู้ยกให้ (ลายเซ็น)
ลงชื่อ พระครูสมุทรสุนทร ผู้ยกให้ (เขียนชื่อกำกับลายเซ็น)
ลงชื่อ พระพุฒ จันทวัณโณ พยาน
ลงชื่อ พระนิพนธ์ สุทธิโก พยานผู้เขียน
ลงชื่อ พระทองเจือ อธิจิตโต พยาน
ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารฉบับนี้ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นพินัยกรรม หรือแสดงถึงเจตนาของพระครูสมุทรสุนทรในการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินว่าให้เกิดผลบังคับเมื่อท่านถึงแก่มรณภาพไปแล้วเลยข้อความในเอกสารฉบับนี้ที่ว่า “เวลาทำหนังสือฉบับนี้มีสติสัมปชัญญะดี เป็น ปกติดี” ก็ดี หรือ “ขอเจตนาครั้งสุดท้าย” ก็ดี หาทำให้แปลความหมายได้ว่า พระครูสมุทรสุนทรมีเจตนาที่จะให้ที่รายพิพาทตกได้แก่จำเลยเมื่อท่านถึงแก่มรณภาพไปแล้วไม่ ตรงกันข้ามข้อความในเอกสารดังกล่าวที่ว่า “ข้าพเจ้าขอยกให้นางใจ กลั่นแสง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” กลับแสดงแจ้งชัดว่าพระครูสมุทรสุนทรเจตนาที่จะยกที่พิพาทให้แก่จำเลยทันทีในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิต เอกสารหมาย จ.ล.1 ดังกล่าวจึงไม่ใช่พินัยกรรม
พิพากษายืน