คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การปิดคำคู่ความหรือเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 79 วรรคหนึ่ง หมายถึงการนำคู่ความหรือเอกสารไปติดไว้ที่ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของคู่ความ ซึ่งต้องกระทำให้มีลักษณะแน่นหนา ไม่หลุดออกไปโดยง่าย ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานศาลผู้ส่งเพียงแต่นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องกับหมายนัดสืบพยานโจทก์ไปเสียบไว้ที่เหล็กที่ใช้เป็นมือจับสำหรับปิดเปิดประตูเหล็กยืดที่บ้านจำเลยซึ่งอาจหลุดและปลิวไปได้โดยง่าย จึงไม่อาจถือว่าเป็นการปิดคำคู่ความหรือเอกสารโดยชอบตามบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การและกำหนดวันนัดสืบพยานโดยชอบ จำเลยจึงไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา สมควรที่ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาคดีใหม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามสัญญากู้ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 150,000 บาท

จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาเนื่องจากจำเลยไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่มีมูลหนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีนี้ใหม่

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าพนักงานศาลส่งหมายเรียก สำเนาคำฟ้องและหมายนัดให้จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยโดยชอบแล้ว แต่จำเลยจงใจไม่ยื่นคำให้การและจงใจขาดนัดพิจารณา ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว เห็นว่า จำเลยขาดนัดโดยจงใจ ให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยเบิกความว่าจำเลยไม่เคยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องกับหมายนัดสืบพยานโจทก์คงได้รับแต่เพียงคำบังคับซึ่งเด็กข้างบ้านนำมาให้ ส่วนโจทก์มีนายสุริยัน จันทร์ศิริ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลของศาลชั้นต้นเบิกความเป็นพยานว่า พยานเป็นผู้ไปส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง หมายนัดสืบพยานโจทก์และคำบังคับแก่จำเลย โดยในการส่งทั้งสามครั้งพยานจะนำคำคู่ความหรือเอกสารดังกล่าวไปเสียบไว้ที่เหล็กที่เป็นมือจับสำหรับปิดเปิดประตูเหล็กยืดที่บ้านจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 79 บัญญัติว่า “ถ้าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นไม่สามารถจะทำได้ดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อนศาลอาจสั่งให้ส่งโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือปิดคำคู่ความหรือเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของคู่ความ…” การปิดคำคู่ความหรือเอกสารตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงการนำคำคู่ความหรือเอกสารไปติดไว้ที่ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของคู่ความ ซึ่งต้องกระทำให้มีลักษณะแน่นหนาไม่หลุดออกไปโดยง่าย แต่กรณีนี้เจ้าพนักงานศาลผู้ส่งเพียงแต่นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง กับหมายนัดสืบพยานโจทก์ไปเสียบไว้ที่เหล็กที่ใช้เป็นมือจับสำหรับปิดเปิดประตูเหล็กยืดที่บ้านจำเลยเท่านั้น ซึ่งอาจหลุดและปลิวได้โดยง่าย กรณียังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปิดคำคู่ความหรือเอกสารโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 79 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การและหมายกำหนดวันนัดสืบพยานโดยชอบ จำเลยจึงไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา สมควรที่ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาคดีใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ โดยกำหนดระยะเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การ แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share