คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ข้อ 32 วรรค 2 ว่า “กรมมีอธิบดีเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการ รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรม ฯลฯ” ดังนั้น การที่จะถือว่ากรมตำรวจโจทก์ได้รู้ถึงเรื่องการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อ อธิบดีกรมตำรวจโจทก์ หรือผู้ทำการแทนรู้เรื่องการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะถือว่าเมื่อประธานกรรมการสอบสวนรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนตือถือว่าโจกท์รู้ด้วยหาได้ไม่ เพราะตามระเบียบราชการนั้นเจ้าหน้าที่ชั้นสูงจะต้องพิจารณาก่อนว่าเรื่องราวและความเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เสนอไปนั้นถูกต้องหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ โดยประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถของทางราชการตำรวจเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถยนต์ของโจทก์ ค่าเสียหายของโจทก์ไม่ถึงเท่าที่ฟ้อง โจทก์รู้ตัวผู้กระทำผิดและผู้ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่า ๑ ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์โดยประมาท คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีสำหรับจำเลยที่ ๒ ขาดอายุความเพราะนับเวลาที่ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๔ รายงานให้กรมตำรวจทราบถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยระบุจำเลยทั้งสองเป็นผู้ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกิน ๑ ปีแล้ว ส่วนคดีของจำเลยที่ ๑ ไม่ขาดอายุความเพราะคดีอาญาซึ่งจำเลยที่ ๑ ถูกฟ้องและถูกพิพากษาลงโทษยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เป็นเหตุให้อายุความซึ่งโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๑ ในทางแพ่งสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๑ วรรค ๒ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่า คดีสำหรับจำเลยที่ ๒ ไม่ขาดอายุความ
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ โดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ซึ่งใช้ในราชการตำรวจตระเวนชายแดน ปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ขาดอายุความหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อนับปีหนึ่ง นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฯลฯ” ตามมาตรา ๗๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “อันความประสงค์ของนิติบุคคลนั้นย่อมแสดงปรากฏจากผู้แทนทั้งหลายของนิติบุคคลนั้น” และตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ ข้อ ๓๒ วรรค ๒ ว่า “กรมมีอธิบดีเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรม ฯลฯ” ดังนั้น การที่จะถือว่ากรมตำรวจโจทก์ได้รู้ถึงเรื่องการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ก็ต่อเมื่ออธิบดีกรมตำรวจโจทก์ หรือผู้ทำการแทนรู้เรื่องการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะถือว่าประธานกรรมการสอบสวนรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องถือว่าโจทก์รู้ด้วยหาได้ไม่ เพราะตามระเบียบราชการนั้นเจ้าหน้าที่ชั้นสูงจะต้องพิจารณาก่อนว่าเรื่องราวและความเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เสนอไปนั้นถูกต้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ได้รับหนังสือจากผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๔ ยังไม่เกิน ๑ ปี คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้ให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ ๒ ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ไขให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share