แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์โดยเห็นว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เป็นคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ การอุทธรณ์คำสั่งในกรณีเช่นนี้แม้จะเป็นการอุทธรณ์ก่อนศาลมีคำพิพากษาก็ต้องอุทธรณ์ภายใน 15วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนองจำนวนเงิน 1,228,085.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงิน 997,991.42 บาท นับจากวันฟ้องจนชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้และหากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ
ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานศาลไม่สามารถส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 ได้ แต่โจทก์ไม่แถลงให้ศาลทราบภายในเวลาที่กำหนดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 จากสารบบความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในระยะเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ให้ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี และมิใช่คำสั่งตามมาตรา 227 และ 228 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (1) จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า คดีนี้จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2544 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อท้ายตราประทับว่าให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2544 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2545 จึงเกินกำหนด 15 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า คำสั่งศาลชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2544 โดยเจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นประทับตราให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 20ธันวาคม 2544 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว และจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อทราบนัดของเจ้าหน้าที่ศาลอยู่ท้ายตราประทับดังกล่าว ดังนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ตามที่พนักงานศาลได้ลงนัดไว้แล้ว ส่วนที่อ้างว่าผู้รับมอบฉันทะจำเลยที่ 2ไม่สามารถฟังคำสั่งเพราะพนักงานศาลยังไม่ได้นำมาลงสมุดฟังคำสั่งศาลก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการอย่างใดเพื่อให้ทราบคำสั่งศาลดังกล่าวจึงเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยรับฟังไม่ได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์วันที่ 20 ธันวาคม 2544 มีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวต้องอุทธรณ์ภายในกำหนด 15 วัน หรือ 1 เดือน เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์โดยเห็นว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณานั้นเป็นคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แล้ว การอุทธรณ์คำสั่งในกรณีเช่นนี้แม้จะเป็นการอุทธรณ์ก่อนศาลมีคำพิพากษาก็ต้องอุทธรณ์ภายในกำหนด 15วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งในวันที่ 14 มกราคม 2545 จึงเกินกำหนด 15 วัน นับแต่จำเลยที่ 2 ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 2 อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่งการยื่นฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ในกรณีนี้เสียค่าคำร้องเพียง 40 บาท จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลมา 200 บาทจึงคืนเงินส่วนที่เสียเกินจำนวน 160 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2”
พิพากษายืน ให้คืนเงินส่วนที่เสียเกินจำนวน 160 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.