คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14144/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมเงินและหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเดียวกันไว้ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม พร้อมกับจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้เป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วย ต่อมาจำเลยที่ 5 ขายที่ดินที่จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์มีหนังสือที่แสดงเจตนาว่ายอมปลดหนี้ภาระการค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 5 จนหมดสิ้นแล้ว เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 293 และมาตรา 296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อจำเลยที่ 5 ย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 5 ระงับไปตามมาตรา 340 และย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามมาตรา 293 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และแม้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 เนื่องจากต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและหนี้ตามภาระการค้ำประกันดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ในระหว่างจำเลยที่ 4 และที่ 5 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 4 ได้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ 51,402,129.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 44,268,013.48 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิด 42,970,692.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 37,350,606.39 บาท ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิด 5,941,261.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,417,407.09 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองหรือทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินสุทธิมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แถลงสละประเด็นอื่นทั้งหมด คงให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องหรือไม่
ระหว่างพิจารณา บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ 51,402,129.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 44,268,013.48 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 มกราคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าว 42,970,692.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 37,350,606.39 บาท ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 5,941,261.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 5,417,407.09 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบตามยอดหนี้ที่จำเลยแต่ละคนต้องร่วมรับผิด กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 5 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 3,000 บาท และให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 เนื่องจากโจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว การพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 5 ต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 ฎีกาว่า หนี้ของจำเลยที่ 4 ได้ระงับหมดสิ้นไปแล้วเพราะคู่กรณีได้ทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้และตกลงปลดภาระค้ำประกันของจำเลยที่ 4 ทั้งนี้เนื่องจากจำเลยที่ 4 ได้โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ยินยอมให้โอนซึ่งภาระของจำเลยที่ 4 ไปยังจำเลยที่ 2 เมื่อพิเคราะห์สัญญาซื้อขาย บันทึกข้อตกลงเรื่องปลอดจำนองเป็นประกันประกอบพฤติการณ์แห่งคดีทั้งมวลแล้วเห็นได้ว่าโจทก์ได้ปลดหนี้ให้แก่จำเลยที่ 4 แล้ว นั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ฝ่ายจำเลยนำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 2 และไม่มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ก่อนที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 จะนำที่ดินของตนมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เมื่อปี 2536 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน 6 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 61115 ถึง 61120 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช จากจำเลยที่ 5 ในราคา 7,000,000 บาท ชำระเงินมัดจำแล้ว 1,000,000 บาท กับทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 61269 ถึง 61274 และ 59428 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 7 แปลง จากจำเลยที่ 4 ในราคา 3,500,000 บาท ชำระเงินมัดจำ 1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน 1 ปี เมื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้จัดการได้ขอเข้าไปปลูกสร้างโชว์รูมสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ก่อสร้างในที่ดินทั้งหกแปลงที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 5 โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 5 วันที่ 18 สิงหาคม 2537 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท ทำสัญญาขอเบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 4,000,000 บาท และขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินอีกจำนวน 1,000,000 บาท รวมมูลหนี้ทั้งหมด 7,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้ขอให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 นำที่ดินที่จะซื้อขายทั้งหมดไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 และที่ 5 ตกลงนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และโจทก์ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันอีกรวม 3 ฉบับ เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ 2,000,000 บาท หนี้เบิกเงินเกินบัญชี 4,000,000 บาท และหนี้ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินอีก 1,000,000 บาท การลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันนั้นโจทก์อ้างว่าเป็นระเบียบของโจทก์ ในกรณีที่บุคคลภายนอกนำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของลูกหนี้ บุคคลภายนอกนั้นจะต้องทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้อีกฉบับหนึ่งด้วย เมื่อถึงกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะซื้อจะขาย จำเลยที่ 2 ขอผัดผ่อนเพราะไม่มีเงินมาชำระราคาที่ดิน จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต้องการจะขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 และประสงค์จะปลดภาระหนี้จำนองและค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงไปพบผู้จัดการของโจทก์ สาขานครศรีธรรมราช แจ้งแก่ผู้จัดการว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ประสงค์จะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และขอให้โจทก์ปลดภาระหนี้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ที่มีต่อโจทก์ทั้งหมดทั้งสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองเพื่อให้จำเลยที่ 2 รับภาระหนี้ดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว โดยจำเลยที่ 2 เสนอเงื่อนไขขอเพิ่มวงเงินอีก 2,000,000 บาท ต่อมาทางสำนักงานใหญ่ของโจทก์ตกลงรับเงื่อนไขทั้งหมดของจำเลยที่ 2 โดยเพิ่มเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 2 จะต้องจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองในที่ดิน 6 แปลง ที่ซื้อจากจำเลยที่ 5 อีก 2,000,000 บาท และต้องจัดหาที่ดินมาจำนองเพิ่มอีก 14 แปลง จำเลยที่ 2 ตกลง โดยโจทก์มีหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 5 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ได้และยินยอมให้โอนภาระหนี้และจำนองไปยังจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล. 4 จากนั้นจำเลยที่ 5 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินรวม 6 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยใช้เอกสารหมาย ล.4 ประกอบการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ภาระจำนองที่มีอยู่จึงตกติดไปยังจำเลยที่ 2 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น โจทก์ยินยอมจดทะเบียนปลอดจำนองให้แก่จำเลยที่ 4 ก่อนที่จะจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 4 และที่ 5 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกับโจทก์ไว้ โดยได้นำที่ดินจำนวน 6 แปลง ที่ซื้อจากจำเลยที่ 5 ไปจดทะเบียนจำนองเพิ่มวงเงินอีก 2,000,000 บาท กับได้นำที่ดินอีก 14 แปลง มาจดทะเบียนจำนองเพิ่มหลักทรัพย์แต่ไม่เพิ่มวงเงิน การที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 5 จดทะเบียนโอนขายที่ดินที่ติดจำนองรวม 6 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 และยอมปลอดจำนองให้จำเลยที่ 4 ก่อนจะจดทะเบียนโอนขายที่ดินรวม 7 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 รวมทั้งยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำที่ดิน 6 แปลง ที่รับโอนจากจำเลยที่ 5 มาจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองจาก 7,000,000 บาท เป็น 9,000,000 บาท และนำที่ดินอีก 14 แปลง มาจดทะเบียนจำนองเพิ่มหลักทรัพย์แต่ไม่เพิ่มวงเงิน แสดงว่าโจทก์มีเจตนาตกลงยินยอมปลดภาระหนี้ค้ำประกันและภาระจำนองให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ทั้งหมดแล้วตามเอกสารหมาย ล.4 หากโจทก์ไม่ตกลงยินยอมก็ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะจดทะเบียนจำนองเพิ่มวงเงินในที่ดิน 6 แปลงอีก 2,000,000 บาท และนำที่ดินอีก 14 แปลง มาจดทะเบียนจำนองเพิ่มหลักทรัพย์แต่ไม่เพิ่มวงเงินให้แก่โจทก์ในวันดังกล่าว ซึ่งการปลดหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 กำหนดให้เจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ การที่โจทก์มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราชมีข้อความสำคัญระบุว่า “ธนาคารในฐานะผู้รับจำนองได้พิจารณาแล้วยินยอมให้ดำเนินการดังกล่าวได้ตามประสงค์ โดยให้ผู้ซื้อรับภาระหนี้และภาระจำนองตามสัญญาจำนองที่กล่าวไปด้วย” นั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาว่าจะปลดหนี้ภาระการค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 5 แล้วและเป็นการปลดหนี้ตามมาตรา 340 วรรคสองด้วย และแม้โจทก์จะไม่ได้ปลดหนี้ภาระการค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 4 เป็นหนังสือตามมาตรา 340 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมเงินและหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเดียวกันไว้ต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม พร้อมกับจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้เป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วย ต่อมาจำเลยที่ 5 ได้ขายที่ดินที่จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์มีหนังสือที่แสดงเจตนาว่ายอมปลดหนี้ภาระการค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 5 จนหมดสิ้นแล้ว จำเลยที่ 4 ซึ่งป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 293 และมาตรา 296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อจำเลยที่ 5 ย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 5 ระงับไปตามมาตรา 340 และย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามมาตรา 293 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และถึงแม้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ที่อุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองแล้ว จึงหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันด้วย เนื่องจากจำเลยที่ 4 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและหนี้ตามภาระการค้ำประกันดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ในระหว่างจำเลยที่ 4 และที่ 5 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 4 ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share