คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1414/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2512 จำเลยซึ่งไม่มีความรู้ในวิชาชีพที่จะประกอบโรคศิลปะทุกสาขา ได้บังอาจประกอบโรคศิลปะในสาขาเวชกรรม โดยรับจ้างรักษาโรคทั่วไป และฉีดยาให้แก่บุคคลทั่วไปทั้งนี้ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะจากคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะพ.ศ.2479 มาตรา 11, 21 ตามที่มีแก้ไข ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องแต่เวลาที่จำเลยกระทำผิด พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะในส่วนที่เกี่ยวกับเวชกรรมได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมพ.ศ.2511 แล้ว ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องหาได้ไม่ และจะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรค 4 มาปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมพ.ศ.2511 หาได้ไม่ เพราะการที่โจทก์อ้างกฎหมายที่ยกเลิกแล้วมาขอให้ลงโทษจำเลยนั้น เท่ากับไม่ได้อ้างกฎหมายอันใดมาเลยจึงไม่ใช่เรื่องอ้างฐานความผิดหรือบทกฎหมายผิด
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11/2516)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๒เวลากลางวัน จำเลยซึ่งไม่มีความรู้ในวิชาชีพที่จะประกอบโรคศิลปะทุกสาขาและโดยมิได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะจากคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมาย ได้บังอาจประกอบโรคศิลปะในสาขาเวชกรรม รับจ้างรักษาโรคและฉีดยาให้แก่บุคคลทั่วไปตามวันเวลาข้างต้น จำเลยได้กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง กล่าวคือ จำเลยได้ฉีดยาแคลเซี่ยมเข้าเส้นเลือดของนางประเทียบ ใจแจ้ง เนื่องจากจำเลยไม่มีความรู้ความสามารถจึงฉีดยาเข้าเส้นไม่สม่ำเสมอและไม่รู้จักปล่อยยาเข้าเส้นเลือด และฉีดยามากเกินไป เมื่อนางประเทียบ ใจแจ้ง แพ้ยาที่จำเลยฉีดเข้าไปแล้ว จำเลยก็ไม่รู้จักแก้ไข เป็นเหตุให้นางประเทียบ ใจแจ้ง ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๔๗๙มาตรา ๑๑, ๒๑ พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๖)พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ(ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑และให้ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานประกอบโรคศิลปะสาขาเวชกรรม โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต และกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายลง โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑อันเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ จำคุกจำเลย ๔ ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ ๑ ใน ๔ เป็นจำคุก ๓ ปี ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๑๑, ๒๑ พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๖ ให้จำคุก๖ เดือน การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ ๑ ใน ๔ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๔ เดือน ๑๕ วัน ข้อหาฐานทำให้คนตายโดยประมาทให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะนางประเทียบ ใจแจ้ง ผู้ตายได้ถึงแก่ความตายเพราะเหตุที่จำเลยฉีดยาแคลเซี่ยมเข้าเส้นเลือดของผู้ตาย แล้วผู้ตายแพ้ยาซึ่งจำเลยไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะไม่เคยศึกษาเล่าเรียนวิชาแพทย์มาก่อนเลย การกระทำของจำเลยจึงเข้าลักษณะกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เนื่องจากวันที่จำเลยกระทำความผิดนี้เป็นเวลาที่ได้มีพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมพ.ศ. ๒๕๑๑ ออกใช้บังคับแล้ว จึงมีปัญหาว่า ยังจะถือว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะดังที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษหรือไม่ ปัญหานี้ แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกามาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ปัญหานี้แล้วมีมติว่า พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะในส่วนที่เกี่ยวกับเวชกรรมได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมพ.ศ. ๒๕๑๑ แล้วศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องหาได้ไม่ และการที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะในส่วนที่เกี่ยวกับเวชกรรมซึ่งได้ถูกยกเลิกแล้วนั้น ศาลจะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรค ๔ มาปรับลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๑๑ หาได้ไม่การที่โจทก์อ้างกฎหมายที่ยกเลิกแล้วมาขอให้ลงโทษจำเลยนั้น เท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างกฎหมายอันใดมาเลย เพราะพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะส่วนที่เกี่ยวกับเวชกรรมไม่มีอยู่เสียแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทกฎหมายผิด
จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๑ ให้จำคุกจำเลย ๔ ปี คำให้การชั้นสอบสวนและคำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้๑ ใน ๔ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลย ๓ ปีของกลางริบ

Share