คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14123/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพราะเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งวันขายทอดตลาดทรัพย์ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำฟ้องขอให้โจทก์และจำเลยคดีนี้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่งแล้ว ครั้นระหว่างการพิจารณาศาลอุทธรณ์ คดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ย่อมมีอำนาจยกข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งถึงที่สุด และเป็นข้อเท็จจริงที่ผูกพันคู่ความในคดีนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานนอกสำนวน และปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ซึ่งมิใช่ทรัพย์ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องจึงยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง กับทั้งเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจรับฟังข้อเท็จจริงตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่ง แล้วพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) กระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว นอกจากนี้ คดีนี้ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิใช่เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ผู้ร้องจึงไม่ต้องเรียกผู้ซื้อทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความเพราะมิได้บังคับต่อบุคคลภายนอก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์บังคับจำนองทรัพย์สินของจำเลย โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 100440 ตำบลสามเสนนอก (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาด ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นคนต่างด้าว ซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 100440 ตำบลสามเสนนอก (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร โดยให้จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับจำนองนำยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์แต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาท โจทก์ประมูลซื้อได้ในราคา 3,570,000 บาท โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการสมคบกันระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับโจทก์ ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและงดการบังคับคดีไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องซึ่งยื่นคำร้องขอขัดทรัพย์เป็นผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อผู้ร้องแจ้งเรื่องการยื่นคำร้องและการอุทธรณ์คำร้องขอขัดทรัพย์ ถือว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดไปโดยไม่แจ้งให้ผู้ร้องทราบ จึงเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 100440 ตำบลสามเสนนอก (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ส่วนคำขออื่นให้ยก โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550
ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ดินพิพาทในคดีนี้แล้ว ในราคา 4,270,000 บาท และผู้ซื้อทรัพย์ได้โอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท การขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีขายทอดตลาดโดยประการอื่นนอกจากตามทะเบียนทรัพย์สิน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องแจ้งวันขายทอดตลาดทรัพย์ให้ผู้ร้องทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยไม่แจ้งให้ผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวมีสิทธิได้รับเงินจากการขายทอดตลาดทราบ ตามหนังสือรายชื่อผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตามที่มาดูแลการขายและรายชื่อผู้เสนอราคาสูงสุด จึงเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายเพราะขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินมาก นอกจากนี้ผู้ร้องยังได้ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองเป็นคดีแพ่งตามคดีหมายเลขแดงที่ 4290/2546 ของศาลชั้นต้น คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทั้งโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบดีที่ผู้ร้องฟ้องโจทก์ให้เพิกถอนนิติกรรมจำนอง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินพิพาทไปดังกล่าวทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในที่ดินพิพาทกลับคืนสู่สภาพเดิม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่ปรากฏในคำร้องว่าได้มีการกล่าวอ้างว่า การขายที่ดินพิพาทได้ราคาต่ำนั้น เกิดจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำการโดยไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลของผู้เกี่ยวข้องในการเสนอราคา จึงให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ในคดีแพ่งที่ผู้ร้องฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทตามคดีหมายเลขแดงที่ 4290/2546 ของศาลชั้นต้น ระหว่าง นายจอห์น โจทก์ นางสาววารีหรือธัญญรัตน์กับพวก จำเลย นั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาและได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งโจทก์ในคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทและที่ดินพิพาทในคดีดังกล่าวก็ตรงกับที่โจทก์ในคดีนี้ฟ้องบังคับจำนอง เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เพิกถอนจำนองที่ดินพิพาท คำพิพากษาศาลฎีกาย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีนี้และคดีถึงที่สุดแล้ว ขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์และเพิกถอนการบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการทั้งหมด
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 100440 ตำบลสามเสนนอก (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ที่ได้ดำเนินการขายทอดตลาดไป ส่วนการจดทะเบียนเพิกถอนการจำนองและระงับจำนองซึ่งกระทำเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2543 และวันที่ 30 กันยายน 2554 เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องนำคำพิพากษาศาลฎีกาไปดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2865/2555 ซึ่งผู้ร้องแนบท้ายคำร้องเป็นเหตุในการพิพากษาเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน ทำให้กระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์ผิดระเบียบ และการที่นายธวัชชัยผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ความ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทอ้างว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งวันขายทอดตลาดทรัพย์ให้ผู้ร้องทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 นอกจากนี้ผู้ร้องได้ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาท คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเรื่องนี้ หากศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการจำนองแล้ว จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องในภายหลัง ทั้งศาลชั้นต้นได้มีหนังสือตอบข้อหารือเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาห้วยขวาง กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของศาลต่างชั้นขัดกัน ให้ถือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สูงกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 โดยแจ้งด้วยว่า คดีของศาลชั้นต้นหมายเลขแดงที่ 4290/2546 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทั้งเลขานุการกรมที่ดินมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่า รองอธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งให้ระงับการจำหน่ายที่ดินพิพาทไว้เพื่อรอผลคำพิพากษาศาลฎีกา แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง กลับฝ่าฝืนข้อหารือของศาลชั้นต้นและคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน กรณีตามคำร้องจึงเป็นการกล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์นอกจากจะอ้างเหตุเพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแล้ว ศาลอุทธรณ์ยังอ้างเหตุเรื่องการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบซึ่งเป็นเหตุตามที่กล่าวอ้างในคำร้อง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบเกี่ยวกับการขายทอดตลาด จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง และการที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง โจทก์และจำเลยจดทะเบียนจำนองทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้ผู้ร้องเสียเปรียบอันเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต และมีคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยจดทะเบียนเพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่อาจขายทอดตลาดที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ จำเลย และผู้ร้องต่างเป็นคู่ความตามคำพิพากษาศาลฎีกาจึงย่อมผูกพันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีโดยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่เจ้าพนักงานศาลรับรองความถูกต้องแห่งเอกสารและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำร้องพร้อมสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่โจทก์ จำเลย และเจ้าพนักงานบังคับคดีให้มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) แล้ว แต่โจทก์ จำเลย และเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่คัดค้าน ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งถึงที่สุดแล้วและเป็นข้อเท็จจริงที่ผูกพันคู่ความในคดีนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานนอกสำนวน และปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ซึ่งมิใช่ทรัพย์ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องจึงยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง และเมื่อเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจรับฟังข้อเท็จจริงตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) กระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องไม่ได้ร้องขอให้เรียกผู้ซื้อทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดจึงเกินคำขอและไม่อาจบังคับได้นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท แต่มิได้พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท เนื่องจากผู้ร้องมิได้เรียกผู้ซื้อทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ได้บังคับบุคคลภายนอกและไม่เกินคำขอดังที่โจทก์ฎีกา ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share