แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว โจทก์ก็มิได้ว่าจ้างให้ผู้ใดก่อสร้างโรงฝึกงานทันที กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนถึงวันฟ้องเป็นเวลานานถึง 6 ปีเศษ โจทก์จึงมีส่วนผิดที่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยดังกล่าว ศาลชอบที่จะนำมาประกอบในการกำหนดค่าเสียหายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยไม่ลงมือก่อสร้างอาคารภายในวันที่29 กันยายน 2522 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ผู้แทนโจทก์เร่งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกัน ต่อมาโจทก์ว่าจ้างนายจรูญ ด้วงเรืองก่อสร้างได้เฉพาะโรงอาหารพร้อมหอประชุม 1 หลัง ในราคา 1,450,000บาท ขาดโรงฝึกงานไป 1 หลัง ราคา 808,000 บาท การที่จำเลยละทิ้งงานและผิดสัญญาดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยขาดโรงฝึกงานไป 1 หลัง ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ตามข้อกำหนดในสัญญา และจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์คำนวณราคาก่อสร้างโรงฝึกงาน 1 หลัง ดังกล่าวเป็นเงิน 808,000 บาทโจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน808,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันที่ 29ตุลาคม 2527 จนถึงวันฟ้อง (วันที่ 24 ธันวาคม 2529) เป็นเงิน130,663.14 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 938,663.14 บาท และชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวในต้นเงิน 808,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์คำนวณราคาค่าก่อสร้างโรงฝึกงาน1 หลัง เป็นเงินถึง 808,000 บาท เป็นเพียงราคาประมาณการก่อสร้างเท่านั้น ส่วนราคาจริงไม่ถึง 20,000 บาท เพราะเป็นอาคารโล่งใช้วัสดุก่อสร้างไม่มาก หากโจทก์เสียหายจริง จำเลยก็รับผิดต่อโจทก์ไม่เกิน 20,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 180,296 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2527เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 180,240 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้พยานจำเลยจะเบิกความสอดคล้องต้องกันในจำนวนเงินค่าก่อสร้างดังกล่าวก็ตามแต่ก็เห็นได้ว่าคำของพยานจำเลยนั้นขัดต่อเหตุผล เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังจากที่จำเลยผิดสัญญาไม่ก่อสร้างอาคารให้โจทก์แล้วโจทก์ต้องจ้างบุคคลอื่นก่อสร้างอาคารต่อไป แต่งบประมาณของโจทก์สามารถก่อสร้างได้แต่เฉพาะโรงอาหารพร้อมหอประชุมเท่านั้นแสดงว่าราคาค่าก่อสร้างโรงฝึกงานได้เพิ่มขึ้น จนไม่สามารถจะก่อสร้างในราคา 460,000 บาท ดังที่จำเลยนำสืบได้ พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง แต่อย่างไรก็ตามราคาค่าก่อสร้างตามที่โจทก์นำสืบมานั้นคงเป็นเพียงรายการประมาณค่าใช้จ่ายซึ่งโจทก์ประมาณการไว้โดยยังมิได้ว่าจ้างผู้ใดทำการก่อสร้างจริง นายประเสริฐ วิศวกรของโจทก์ผู้คำนวณราคาค่าก่อสร้างดังกล่าวก็เบิกความยอมรับว่า หากประมาณการก่อสร้างในปี 2522ซึ่งเป็นปีที่จำเลยผิดสัญญาราคาประมาณการก่อสร้างจะต่ำกว่าปี2527 ที่พยานประมาณการไว้ เมื่อคำนึงถึงระยะเวลาภายหลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว โจทก์ก็มิได้ว่าจ้างผู้ใดก่อสร้างโรงฝึกงานให้เสร็จไปโดยพลัน โจทก์จึงมีส่วนผิดที่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปจนถึงวันฟ้องเป็นเวลานานถึง 6 ปีเศษ ประกอบด้วยแล้วจะเห็นได้ว่าราคาค่าก่อสร้างที่โจทก์คิดเป็นค่าเสียหายในคดีนี้นั้นเป็นค่าเสียหายที่สูงเกินส่วน ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นจำนวนเงิน 600,000 บาท และเนื่องจากโจทก์ได้อนุมัติให้จำเลยตัดรายการไฟฟ้าและสีรวมเป็นเงิน 94,760 บาท ออกจากรายการก่อสร้างแล้ว การคำนวณค่าเสียหายของโจทก์จึงต้องตัดรายการทั้งสองออกก่อน ใช่ว่าจะตัดรายการทั้งสองออกเฉพาะกรณีที่จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังที่โจทก์ฎีกาก็หาไม่ เพราะเมื่อโจทก์อนุมัติให้ตัดรายการดังกล่าวออกแล้ว จำเลยก็ไม่ต้องติดตั้งไฟฟ้าและทาสีที่ตัวอาคารโรงฝึกงานต่อไป ความเสียหายของโจทก์อันเกิดจากการที่จำเลยไม่ติดตั้งไฟฟ้าและทาสีจึงไม่มี เมื่อหักค่าไฟฟ้าและสีออกแล้วค่าเสียหายของโจทก์จึงเหลือเพียง 505,240 บาทคดีนี้โจทก์ได้ริบหลักประกันจำนวน 73,000 บาท ซึ่งนับเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งที่โจทก์ได้รับไปแล้ว จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากค่าเสียหายจำนวน 505,240 บาท ด้วย ค่าเสียหายของโจทก์คงเหลือเพียง 432,240 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เพียง 180,240 บาทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 432,240 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3