แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ราคาที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยเบิกความกล่าวอ้างถึงในคดีแพ่งที่โจทก์ทั้งสองกับพวกเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท อ. จำกัด กับพวก เป็นจำเลย เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท อ. จำกัด ดังนั้น ไม่ว่าคำเบิกความของจำเลยเกี่ยวกับราคาค่าที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยซื้อมาจะจริงหรือเท็จ หากศาลในคดีแพ่งพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองกับพวกเป็นฝ่ายชนะคดีค่าเสียหายสำหรับราคาค่าที่ดินดังกล่าวย่อมตกได้แก่บริษัท อ. จำกัด มิได้ตกแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยในข้อหาเบิกความเท็จ
แม้โจทก์ทั้งสองจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท อ. จำกัด แต่โดยที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นกรรมการของบริษัท โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่ตัวแทนของบริษัทผู้ได้รับความเสียหายและไม่มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีกับจำเลย หากโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการดำเนินกิจการของกรรมการของบริษัท โจทก์ทั้งสองก็มีอำนาจที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรรมการนั้นได้ตามกฎหมายโดยตรง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองกับพวกได้ฟ้องบริษัทเอส.บี.เอสเตท จำกัด กับพวก เป็นคดีหมายเลขดำที่ 16835/2533 ของศาลแพ่ง ต่อมาวันที่ 29มิถุนายน 2537 เวลากลางวัน จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในคดีดังกล่าวว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทในราคา 1,500,000 บาท และนายประชาน้องชายจำเลยก็ซื้อที่ดินแปลงติดกันในราคาเดียวกัน โดยความจริงจำเลยซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1643 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากบริษัทเอส.บี.เอสเตท จำกัด ในราคา 19,000,000 บาทเศษ คำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะหากศาลเชื่อคำเบิกความของจำเลยและพิพากษาให้บริษัทเอส.บี.เอสเตท จำกัด กับพวกชดใช้เงินเพียง 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแทนการคืนที่ดิน โจทก์ทั้งสองย่อมจะได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2532 จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1643 ตำบลจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ (สามเพ็ง) กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากบริษัทเอส.บี.เอสเตท จำกัด โดยระบุในสัญญาซื้อขายเป็นเงิน1,500,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาวันที่ 27สิงหาคม 2533 โจทก์ทั้งสองกับพวกรวม 7 คน เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเอส.บี.เอสเตท จำกัดกับพวกรวม 7 คน เป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 16835/2533 ของศาลแพ่ง ข้อหาผิดสัญญา มีใจความว่าโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 เคยเป็นกรรมการและถือหุ้นในบริษัทเอส.บี.เอสเตท จำกัด จำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งเจ็ดได้ทำสัญญาต่างตอบแทนกับจำเลยทั้งเจ็ดว่าโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 ต้องลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 โอนหุ้นให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 7 กับพวก และไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1643 รวมทั้งแปลงอื่นจากธนาคารโดยโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 จะได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1643 กับ 17359 เป็นการตอบแทนจากจำเลยที่ 1 แต่ในที่สุดจำเลยผิดสัญญาและยกเลิกสัญญาดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในคดีดังกล่าวเป็นเงิน60,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 3ถึงที่ 7 เป็นเงิน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 โอนหุ้นตลอดจนกิจการและอำนาจกรรมการบริหารงานของจำเลยที่ 1 คืนให้แก่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 7 และให้คืนที่ดินโฉนดเลขที่ 1643, 17359 ตำบลจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ (สามเพ็ง)กรุงเทพมหานคร มาเป็นของจำเลยที่ 1 หากคืนไม่ได้ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 60,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้เป็นโจทก์ที่ 3และที่ 6 ในคดีดังกล่าว ตามสำเนาคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 16835/2533 ของศาลแพ่งเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2537 จำเลยได้ไปเบิกความเป็นพยานในคดีนั้นว่า จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1643 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา 1,500,000 บาทตามสำเนาคำให้การพยานโจทก์เอกสารหมาย จ.3 คดีดังกล่าวศาลแพ่งมีคำพิพากษายกฟ้อง ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 8434/2538 เอกสารหมาย ล.6คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1643 บริษัทเอส.บี.เอสเตท จำกัด เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ที่จำเลยเบิกความในคดีแพ่งดังกล่าวว่า จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่1643 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา 1,500,000 บาท ซึ่งไม่ว่าคำเบิกความของจำเลยจะเป็นความจริงหรือเท็จ หากศาลในคดีแพ่งพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองกับพวกชนะคดีในประเด็นค่าเสียหายส่วนนี้ย่อมตกได้แก่บริษัทเอส.บี.เอสเตท จำกัด หาได้ตกแก่โจทก์ทั้งสองไม่โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ประกอบด้วยมาตรา 28(2)ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเอส.บี.เอสเตท จำกัดย่อมมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินต่าง ๆ ของบริษัทโดยตรงนั้น เห็นว่า บริษัทเอส.บี.เอสเตทจำกัด เป็นนิติบุคคลต่างหากจากโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นโจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทจึงมิใช่ตัวแทนของบริษัทผู้ได้รับความเสียหาย หากโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของกรรมการบริษัท โจทก์ทั้งสองก็มีอำนาจที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยตรงได้ตามกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นผู้เสียหายนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นสาระที่จะวินิจฉัย”
พิพากษายืน