คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1410/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและทายาทอื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก หาใช่เป็นการทำนิติกรรมซึ่งคนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 ไม่
การที่ผู้จัดการมรดกมิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาล ศาลอาจถอนผู้จัดการมรดกได้ แต่เมื่อยังมิได้ถอน ผู้จัดการมรดกยังคง มีอำนาจจัดการมรดก
การที่ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้ทายาทไปจนหมดสิ้นแล้วในวันใด ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดในวันดังกล่าว การที่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จ คดีย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ นายชวลิตสามีโจทก์ที่ ๒ และบิดาโจทก์ที่ ๓ กับนายศุภพงษ์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และ ที่ ๕ เป็นบุตรของนายสถิตย์ และนางนิตย์ หังสพฤกษ์ และยังมีบุตรคนอื่นอีก จำเลยที่ ๓ เป็นสามีและทายาทโดยธรรมของนางเอกพี่ของโจทก์ที่ ๑ นายสถิตย์ถึงแก่กรรม ศาลจังหวัดพัทลุง ตั้งนางนิตย์กับจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกของนายสถิตย์ นางนิตย์และจำเลยที่ ๑ ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน ๑๔ แปลง ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุงใส่ชื่อนางนิตย์ และจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดก ต่อมาวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๑๘ นางนิตย์ ได้โอนที่ดินทั้ง ๑๔ แปลง พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างมาเป็นของตนแต่ผู้เดียว โดยมิได้แบ่งแก่ทายาทอื่น อันเป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล เป็นโมฆะ ต่อมานางนิตย์ได้ทำนิติกรรมยกทรัพย์ มรดกดังกล่าว ให้แก่ จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ นางเอกภรรยาจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ และตั้งจำเลยที่ ๖ เป็นผู้จัดการมรดก พินัยกรรมย่อมเป็นโมฆะและนางนิตย์ได้โอนที่ดินโฉนดที่ ๕๒๐ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๑๘ เป็นการโอนโดยมิชอบ นางนิตย์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๒๓ ส่วนนางเอกก็ถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยที่ ๓ เป็นทายาทต้องรับผิดแทน มรดกมีราคาไม่ต่ำกว่า ๒๔ ล้านบาท หักส่วนสินสมรสของนางนิตย์ออกแล้ว ทายาททั้งหมด ๑๓ คน เป็นส่วนแบ่งคนละ ๑,๘๔๖,๑๕๓.๘๕ บาท ของโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ อีก ๑ ส่วน รวมเป็นเงิน ๓,๖๙๒,๒๐๗.๗๐ บาท ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้ง ๑๔ แปลง ดังกล่าว และแบ่งที่ดินให้โจทก์บางส่วน หากตกลงกันไม่ได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดแบ่งให้โจทก์ตามส่วน
จำเลยทั้งหกให้การว่านายสถิตย์ หังสพฤกษ์ จดทะเบียนยกอาคารเลขที่ ๒, ๔, ๖, ๘ ของโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๐๒, ๓๐๓, ๓๐๔, ๕๒๔ ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ คนละ ๒ คูหา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ต่อมายกห้องเลขที่ ๑๐ และ ๑๐/๑ บนโฉนดเลขที่ ๓๐๑ และ ๓๐๓ แก่จำเลยอีกคนละคูหา แต่ได้ถึงแก่กรรมก่อนจดทะเบียน โจทก์ที่ ๑ สละมรดกแล้ว ส่วนที่ดินโฉนดอื่น ๆ พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้าง เจ้ามรดกได้มอบการครอบครองให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และนางนิตย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ แล้ว และนางนิตย์รับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๑๘ ในฐานะทายาท การรับโอนมรดกไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า ๕ ปี นับแต่การแบ่งมรดกเสร็จสิ้น คดีจึงขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓๓ การโอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๒๐ ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นการโอนให้ทายาท โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอน ทรัพย์ มรดกมีราคาไม่เกินเจ็ดล้านบาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ในปัญหาที่ว่าการกระทำของผู้จัดการมรดกเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหรือไม่นั้น ได้ความว่านางนิตย์ หังสพฤกษ์และจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกนายสถิตย์ เจ้ามรดก ต่างก็เป็นทายาทของเจ้ามรดกโดย นางนิตย์เป็นภรรยา จำเลยที่ ๑ เป็นบุตร ที่บุคคลทั้งสองโอนทรัพย์มรดกให้แก่ตนเองและทายาทอื่น ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกอยู่แล้ว จึงมิใช่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ส่วนปัญหาที่ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น โจทก์ฎีกาว่า ผู้จัดการมรดกมิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาล ถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น อายุความยังไม่เริ่มนับนั้น เห็นว่า การที่ผู้จัดการมรดกมิได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาล เป็นกรณีที่ศาลอาจถอดถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ หาเป็นเหตุให้อำนาจในการจัดการมรดกสิ้นสุดไปไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลถอนผู้จัดการมรดก อำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกยังคงมีอยู่ต่อไป เมื่อทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดิน ๑๔ แปลงกับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ผู้จัดการมรดกได้ทำการโอนทรัพย์มรดกเหล่านั้น ให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกไปหมดแล้ว ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๑๘ ถือว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดแล้วในวันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๒๔ เกินกว่า ๕ ปี นับแต่การจัดการมรดกเสร็จ ตามฟ้องเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก โจทก์ทั้งสามต่างก็เป็นทายาท สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓๓
พิพากษายืน

Share