คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1409/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

น้ำปลาของกลางที่จำเลยผลิตขึ้นมีปริมาณไนโตรเจน ซึ่งช่วยเสริมสร้างโปรตีนให้ร่างกายต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างร้อยละ 30.5ถึงร้อยละ 72 แสดงว่าน้ำปลาดังกล่าวไม่ได้มาตรฐานมีคุณค่าทางอาหารขาดเกินกว่าร้อยละ 30 ถือได้ว่าเป็นอาหารปลอมตามพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ. 2522 มาตรา 27(2) แล้ว แม้ไม่ก่อให้เกิดโทษหรืออันตรายต่อผู้บริโภคก็ตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4 บัญญัตินิยามคำว่า”จำหน่าย” หมายความรวมถึงขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือการมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย ในชั้นจับกุมจำเลยรับว่าผลิตน้ำปลาเพื่อจำหน่ายน้ำปลาของกลาง เชื่อได้ว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายถือว่าเป็นการจำหน่ายด้วย การผลิตอาหารปลอมคือน้ำปลาของจำเลย มีกรรมวิธีต่าง ๆจนกระทั่งเป็นน้ำปลาบรรจุขวดเพื่อจำหน่ายได้ เป็นการกระทำอันหนึ่งเป็นกรรมหนึ่ง ส่วนการจำหน่ายซึ่งรวมถึงการมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วยตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4 เป็นการกระทำอีกอันหนึ่งเป็นอีกกรรมหนึ่งหลังจากกระทำการปลอมอาหารแล้วเป็นสองกรรมต่างกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา4, 5, 6, 25, 27, 51, 59 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 50, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 ริบของกลางทั้งหมด และห้ามจำเลยประกอบอาชีพหรือวิชาชีพการผลิตน้ำปลามีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นโทษไปแล้ว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(2) ประกอบด้วยมาตรา 59, มาตรา6(10) ประกอบด้วยมาตรา 51 เป็นความผิดหลายกรรม ลงโทษฐานผลิตอาหารปลอมและจำหน่ายอาหารปลอม จำคุกกระทงละ 3 ปี ลงโทษฐานใช้ฉลากโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 25,000 บาท รวมโทษจำคุก 6 ปี ปรับ 25,000 บาทไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้นับโทษกักขังต่อจากโทษจำคุก ห้ามจำเลยประกอบอาชีพหรือวิชาชีพการผลิตน้ำปลามีกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษไปแล้ว ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานผลิตอาหารปลอมและจำหน่ายอาหารปลอม จำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมสองกระทงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2531เจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามได้ตรวจค้นโรงงานน้ำปลาแสงไทยเลขที่ 1492/2 ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคามของจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ผลิตอาหารและประกอบกิจการโรงงาน พบน้ำปลาตราเหรียญทองหอยสังข์ จำนวน 4,900 ขวด น้ำปลาตราเหรียญทองเหรียญโอลิมปิคเกมส์ จำนวน 220 ขวด น้ำปลาบรรจุขวดยังไม่ติดตรา1,420 ขวดรวมน้ำปลาทั้งหมด 6,640 ขวด จำเลยรับว่าได้ผลิตน้ำปลาเพื่อจำหน่าย ปรากฏตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ.4พนักงานสอบสวนได้ส่งน้ำปลาและฉลากดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์และวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกา พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 27(5) บัญญัติว่า อาหารที่ผลิตไม่ถูกต้องตามมาตรฐานต้องถึงขนาดทำให้เกิดโทษหรืออันตราย แต่น้ำปลาที่จำเลยผลิตจำหน่ายไม่เกิดโทษหรืออันตรายต่อผู้บริโภคนั้น เห็นว่า อาหารที่พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522มาตรา 27(5) กำหนดให้ถือว่าเป็นอาหารปลอมมีอยู่ 2 ประเภท คือ อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดผลวิเคราะห์ปรากฏว่าส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารขาดหรือเกินร้อยละ 30 จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุดประเภทหนึ่ง และอาหารที่ผลิตขึ้นแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทำให้เกิดโทษหรืออันตรายอีกประเภทหนึ่ง เมื่อได้ความว่าน้ำปลาของกลางที่จำเลยผลิตขึ้นมีปริมาณไนโตรเจน ซึ่งช่วยเสริมสร้างโปรตีนให้ร่างกายต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างร้อยละ 30.5 ถึงร้อยละ 72แสดงว่าน้ำปลาดังกล่าวไม่ได้มาตรฐานมีคุณค่าทางอาหารขาดเกินกว่าร้อยละ 30 จึงถือได้ว่าเป็นอาหารปลอมตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้ว แม้จะไม่ก่อให้เกิดโทษหรืออันตรายต่อผู้บริโภคก็ตามศาลล่างวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่า จำเลยจำหน่ายอาหารปลอมหรือไม่ วินิจฉัยว่า ปัญหาข้อนี้มีพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4 บัญญัตินิยามคำว่า”จำหน่าย” หมายความรวมถึงขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางการค้า หรือการมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย ในชั้นจับกุมจำเลยรับว่าผลิตน้ำปลาเพื่อจำหน่ายน้ำปลาของกลางเชื่อได้ว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งถือว่าเป็นการจำหน่ายด้วย
ปัญหาว่า การผลิตอาหารปลอมกับการจำหน่ายอาหารปลอมเป็นกรรมเดียวหรือไม่ วินิจฉัยว่า การผลิตอาหารปลอมคือน้ำปลาของจำเลย มีกรรมวิธีต่าง ๆ จนกระทั่งเป็นน้ำปลาบรรจุขวดเพื่อจำหน่ายได้ เป็นการกระทำอันหนึ่งหรือกรรมหนึ่ง ส่วนการจำหน่ายซึ่งรวมถึงการมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วยตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4 เป็นการกระทำอีกอันหนึ่งหรือกรรมหนึ่งหลังจากกระทำปลอมอาหารแล้ว จึงเป็น 2 กรรมต่างกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกของจำเลยไว้มีกำหนด 3 ปีและไม่ห้ามจำเลยประกอบอาชีพหรือวิชาชีพการผลิตน้ำปลา นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1.

Share