แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยแทงผู้ตายเพราะผู้ตายใช้ขาโต๊ะตีจำเลยก่อน แต่ไม่ถูกและผู้ตายจะตีซ้ำ การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกัน แต่การที่ผู้ตายใช้เพียงขาโต๊ะทำร้ายจำเลย จำเลยสามารถหยุดยั้งผู้ตายด้วยวิธีการอื่นได้ แต่ไม่กระทำ กลับใช้มีดแทงผู้ตายทันทีที่บริเวณหน้าอกอันเป็นอวัยวะสำคัญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเกินสมควรแก่เหตุ ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ลงโทษจำคุก 15 ปี คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยกับผู้ตายอยู่ห้องแถวติดกัน ในวันเกิดเหตุที่ห้องแถวของผู้ตายมีการคิดบัญชีและจ่ายเงินให้ลูกเรือประมงประมาณ 10 กว่าคน ผู้ตายได้ตั้งวงสุราเลี้ยงลูกเรือตั้งแต่เวลากลางวัน จนกระทั่งเวลาประมาณ 19 นาฬิกา ลูกเรือประมงเกิดทะเลาะวิวาทและทำร้ายกันขึ้นและผู้ตายถูกแทงที่บริเวณหน้าอกถึงแก่ความตายดังรายงานการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้มีดแทงฆ่าผู้ตายหรือไม่โจทก์มีนายเสริม ผาวัน บิดาผู้ตายกับนายสุชาติ ผาวัน พี่ชายผู้ตายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นคนแทงผู้ตายโดยขณะที่เกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างลูกเรือนั้น จำเลยได้ถือมีดปลายแหลมเดินเข้าไปในบ้านผู้ตาย และเข้าไปในกลุ่มของลูกเรือที่ชกต่อยกันแล้วใช้มีดแทงผู้ตายล้มลง จากนั้นจำเลยก็หลบหนีไปนอกจากนี้โจทก์ยังมีคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุพัฒน์ ยาชะรัดกับนางสาวกฤษณา ผาวัน ซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุและได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า จำเลยเป็นคนแทงผู้ตาย แม้โจทก์จะไม่ได้ตัวบุคคลทั้งสองมานำสืบเพราะหาตัวไม่พบก็ตาม คำให้การชั้นสอบสวนของบุคคลทั้งสองก็รับฟังประกอบคำประจักษ์พยานที่นำสืบแล้วได้ ทั้งตามคำให้การชั้นสอบสวนของประจักษ์พยานทั้งหมดซึ่งให้การต่อพันตำรวจตรีสมจิตร นาสมยนต์ พนักงานสอบสวนในวันรุ่งขึ้นต่างก็ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายแทงผู้ตาย ยิ่งกว่านั้นพฤติการณ์ที่จำเลยหลบหนีไปหลังเกิดเหตุก็เป็นพิรุธและเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส หลังเกิดเหตุ2 ปีเศษ จำเลยก็รับสารภาพ ในชั้นสอบสวน จำเลยก็ให้การรับว่าใช้มีดแทงผู้ตายจริง พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังได้ว่า จำเลยได้ใช้มีดแทงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย ที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ขาดเหตุผลมีข้อสงสัยอยู่มากนั้น ฟังไม่ขึ้น แต่ตามคำประจักษ์พยานโจทก์ไม่ว่าคำเบิกความชั้นพิจารณาของนายสุชาติพี่ชายผู้ตายก็ดี หรือคำให้การชั้นสอบสวนของนายเสริมบิดาผู้ตายก็ดี ได้ความว่าก่อนที่จำเลยจะแทงผู้ตาย ผู้ตายใช้ขาโต๊ะตีจำเลย จำเลยหลบแล้วใช้มีดแทงสวนไป 1 ครั้ง ถูกผู้ตายบริเวณหน้าอกซ้าย นอกจากนี้ตามคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุพัฒน์กับนางสาวกฤษณาก็ได้ความว่าผู้ตายใช้ขาโต๊ะที่มีผู้ทำหักตีจำเลย 2 ครั้ง แต่ไม่ถูก ทันใดนั้นเองจำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงสวนไปถูกผู้ตายล้มลง ซึ่งตรงกับที่จำเลยได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนรับว่าใช้มีดแทงผู้ตายเพราะผู้ตายใช้เก้าอี้ตีจำเลยและจะตีซ้ำ จำเลยจึงแทงผู้ตายเพื่อป้องกันตนเอง คดีจึงฟังได้ว่าการที่จำเลยแทงผู้ตายเพราะผู้ตายใช้ขาโต๊ะตีจำเลยก่อน แต่ไม่ถูกและผู้ตายจะตีซ้ำ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกัน แต่การที่ผู้ตายใช้เพียงขาโต๊ะทำร้ายจำเลยจำเลยสามารถหยุดยั้งผู้ตายด้วยวิธีการอื่นได้ แต่ไม่กระทำกลับใช้มีดแทงผู้ตายทันทีที่บริเวณหน้าอกอันเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเกินสมควรแก่เหตุซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69 ลงโทษจำคุก 6 ปี คำรับสารภาพในชั้นจับกุม และคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3