คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1408/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จของจำเลยมีว่า ถ้าลูกจ้างได้รับเงินชดเชยอยู่แล้วไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จ ถ้าเงินชดเชยต่ำกว่าเงินบำเหน็จให้จ่ายเงินบำเหน็จเท่ากับส่วนที่ต่ำกว่าระเบียบ ดังนี้มิได้หมายความว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับทั้งค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ จำเลยต้องจ่ายเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนที่เกินกว่าค่าชดเชยเท่านั้น

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า เงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยเป็นเงินสงเคราะห์ที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างสำหรับความดีความชอบที่ได้ทำงานด้วยความเรียบร้อยเป็นเวลาต่อเนื่องกันและต้องออกจากงานโดยไม่มีความผิดทางวินัย เป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ที่ยิ่งกว่าการให้เงินจำนวนหนึ่งแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง จึงไม่ใช่ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง โดยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 17,160 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ได้พิเคราะห์แล้ว ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางนั้นก็มิได้วินิจฉัยว่าเงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยถือได้เป็นค่าชดเชย และเห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 17,160 บาท จึงตั้งปัญหาว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชย 17,160 บาทแก่โจทก์นอกเหนือไปจากเงินจำนวน 62,920 บาทที่จำเลยได้จ่ายให้แก่โจทก์ตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จ เงินทำขวัญ และเงินช่วยเหลือในการทำศพเจ้าหน้าที่คุรุสภา พ.ศ. 2503 อีกหรือไม่ ปรากฏว่าตามระเบียบข้อ 5 วรรคสุดท้าย มีความว่า “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยกำหนดเวลาทำงาน วันหยุดของลูกจ้าง การใช้แรงงานหญิงและเด็ก การจ่ายค่าจ้าง ฯลฯ อยู่แล้วไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ แต่ถ้าเงินชดเชยนั้นมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะพึงได้ตามระเบียบนี้เท่าใด ก็ให้จ่ายเงินบำเหน็จให้เท่ากับส่วนที่ต่ำกว่านั้น” ศาลแรงงานกลางจึงแปลความหมายว่า ถ้าลูกจ้างของจำเลยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และค่าชดเชยนั้นมีจำนวนสูงกว่าเงินบำเหน็จ ก็ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ แต่ถ้าค่าชดเชยต่ำกว่าเงินบำเหน็จ ก็มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนที่เกินกว่าค่าชดเชยเท่านั้น มิใช่จะมีสิทธิได้รับทั้งค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและเงินบำเหน็จทั้งหมดตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายบำเหน็จด้วย ตามระเบียบดังกล่าวจำเลยจึงมีหน้าที่จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์เพียงเฉพาะส่วนที่เกินกว่าค่าชดเชยเท่านั้น คิดแล้วจำเลยต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์เพียง 45,760 บาท ที่จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ไปทั้งสิ้น 64,920 บาทนั้น จึงเห็นได้ว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยจำนวน 17,160 บาทให้แก่โจทก์ด้วยแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง เพราะเทียบได้กับคำพิพากษาฎีกาที่ 479/2524 ระหว่างพันเอกวัลลภ สิริภูบาล โจทก์ องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป (อสร.) กระทรวงกลาโหม จำเลย”

พิพากษายืน

Share