คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1406/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตั้งผู้จัดการมรดกของอิสลามศาสนิกก็เพื่อจะให้ผู้นั้นเข้าไปมีอำนาจหน้าที่จัดการรวบรวมและแบ่งทรัพย์สินของผู้ตายให้เป็นไปตามกฎหมายอิสลาม ฉะนั้น คดีพิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องตั้งผู้จัดการมรดก นับได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องมรดก คดีชนิดนี้จึงตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานีนราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มาตรา 3 และตามมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัตินั้นให้มีดะโต๊ะยุติธรรมหนึ่งนายนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา แต่เนื่องจากดะโต๊ะยุติธรรมประจำศาลยื่นคำร้องขอถอนตัวเพราะเป็นญาติกับโจทก์จำเลย และเคยเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้มาแล้วโจทก์จำเลยจึงได้ตกลงเลือกนายอำนวยซึ่งเป็นอิสลามศาสนิกปฏิบัติหน้าที่แทนดะโต๊ะยุติธรรมเฉพาะคดีตามมาตรา 5 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีโดยให้ดะโต๊ะยุติธรรมนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษาจึงเป็นการชอบ

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของขุนศรีตุลาการ

ผู้คัดค้านคัดค้านว่าผู้ร้องทั้งสามไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก

เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาคดี ศาลชั้นต้นเรียกผู้ร้องว่าโจทก์เรียกผู้คัดค้านว่าจำเลย ก่อนสืบพยานของคู่ความ ศาลชั้นต้นได้สอบถามโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าคดีตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านเสีย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าคดีที่โจทก์ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนี้ ใช้คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องมรดกซึ่งจะต้องมีดะโต๊ะยุติธรรมนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษาหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มาตรา 3 และ 4 ถ้าโจทก์และจำเลยเป็นอิสลามพิพาทกันเกี่ยวด้วยเรื่องมรดกอิสลามศาสนิกซึ่งศาลจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดแล้วให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยมรดกบังคับแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้มีดะโต๊ะยุติธรรมหนึ่งนายนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา

คดีนี้ คู่ความมิได้โต้เถียงกันว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ใช่อิสลามศาสนิกและทั้งสองฝ่ายเป็นอิสลามศาสนิกในเขตศาลจังหวัดปัตตานี การตั้งผู้จัดการมรดกก็เพื่อจะให้ผู้นั้นเข้าไปมีอำนาจหน้าที่จัดการรวบรวมและแบ่งทรัพย์สินของผู้ตายให้เป็นไปตามกฎหมายอิสลาม ฉะนั้น คดีพิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องตั้งผู้จัดการมรดก นับได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องมรดก คดีชนิดนี้จึงตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มาตรา 3และตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัตินั้น ให้มีดะโต๊ะยุติธรรมหนึ่งนายนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา แต่เนื่องจากดะโต๊ะยุติธรรมประจำศาลยื่นคำร้องขอถอนตัวเพราะเป็นญาติกับโจทก์จำเลยและเคยเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้มาแล้ว โจทก์จำเลยจึงได้ตกลงเลือกนายอำนวย โชคบำรุง ซึ่งเป็นอิสลามศาสนิกปฏิบัติหน้าที่แทนดะโต๊ะยุติธรรมเฉพาะคดี ตามมาตรา 5 วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดี โดยให้ดะโต๊ะยุติธรรมนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา จึงเป็นการชอบ

พิพากษายืน

Share