คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1405/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนโจทก์ลาออกจากงาน จำเลยยังคงจ่ายค่าครองชีพให้พนักงานรวมทั้งโจทก์ด้วย ต่อมาหลังจากโจทก์ลาออกจากงานไปแล้ว จำเลยมีคำสั่งยกเลิกการจ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงาน คำสั่งดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ ถือได้ว่าขณะที่โจทก์ลาออกจากงาน โจทก์ได้รับค่าครองชีพอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่ต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดพร้อมดอกเบี้ย เนื่องจากจำเลยไม่ได้นำค่าครองชีพไปรวมเป็นฐานในการคำนวณด้วย
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การต่อสู้คดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งหก
จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ ๒ ลาออกจากงานเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นออกจากงานหลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีและข้อบังคับคำสั่งและระเบียบของจำเลยให้ยกเลิกค่าครองชีพตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๒ ตามเอกสารหมายล.๑ ถึง ล.๕ หลังจากวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๒ จำเลยไม่ได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงานของจำเลยซึ่งรวมถึงโจทก์ที่ ๒ ด้วย แต่เป็นการจ่ายค่าจ้างที่คาดว่าจะได้รับการปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่๑ มกราคม ๒๕๓๒ จำเลยจึงจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มให้ลูกจ้างแต่ละคนเท่ากับค่าครองชีพไปก่อน เมื่อมีคำสั่งปรับค่าจ้างและทราบว่าลูกจ้างแต่ละคนได้รับการปรับค่าจ้างคนละเท่าใดแล้ว จำเลยก็จะคิดหักกลบลบกันระหว่างค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มไปก่อนกับค่าจ้างที่ได้รับการปรับเพิ่มขึ้น โจทก์ที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าครองชีพ พิเคราะห์แล้วในข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ในวันที่ ๓๑มกราคม ๒๕๓๒ จำเลยยังคงจ่ายค่าครองชีพให้พนักงานทั้งโจทก์ที่ ๒ด้วย และปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๕ ซึ่งเป็นคำสั่งปรับค่าจ้างพนักงานของจำเลยว่า จำเลยมีคำสั่งให้ยกเลิกการจ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงาน เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นการออกคำสั่งหลังจากที่โจทก์ที่ ๒ ได้ลาออกจากงานไปแล้วและโจทก์ที่ ๒ ก็ไม่ได้เป็นผู้ที่จำเลยให้ปรับค่าจ้างตามคำสั่งดังกล่าว จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์ที่ ๒ ไปก่อนที่โจทก์ที่ ๒ ลาออกจากงานและก่อนที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกการจ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงาน คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ ๒ ถือได้ว่า ขณะที่โจทก์ที่ ๒ ลาออกจากงานโจทก์ที่ ๒ ได้รับค่าครองชีพอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่ต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จเพื่อจ่ายให้โจทก์ที่ ๒ ด้วย
พิพากษายืน.

Share