แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 183 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้อำนาจศาลจะสั่งให้คู่ความฝ่ายใดนำสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้ ฉะนั้น เมื่อประเด็นที่จำเลยต่อสู้เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งถ้าได้ความแล้วคดีอาจพิจารณาพิพากษาไปได้โดยไม่ต้องพิจารณาประเด็นข้ออื่นๆ แล้ว ศาลอาจสั่งให้จำเลยนำสืบก่อนทุกประเด็นก็ได้
พินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์ก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 นั้น ไม่ขัดต่อกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานั้น และพินัยกรรมที่กำหนดให้โจทก์มีอำนาจจัดการและเก็บค่าเช่านั้น คำว่า จัดการ ในที่นี้ย่อมหมายถึงการดำเนินการต่างๆ ตลอดจนการฟ้องร้องคดีด้วย
พินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดกรวมสี่คน เมื่อเหลือโจทก์คนเดียวเพราะผู้จัดการมรดกสองคนถึงแก่กรรม และผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งลาออก เมื่อพินัยกรรมมิได้กำหนดให้จัดการมรดกพร้อมกันแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีได้
การจัดการมรดกไม่ใช่สิทธิเรียกร้อง ไม่มีอายุความเมื่อจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจจัดการตลอดไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น
โจทก์เคยฟ้องขับไล่จำเลย ศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะโจทก์แสดงอำนาจฟ้องไม่ถูกต้องนั้น ศาลยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อต่อสู้เรื่องขับไล่ ฉะนั้น โจทก์จึงมาฟ้องขับไล่จำเลยได้ใหม่ โดยไม่ถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องคดีทั้งสองสำนวนมีใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายราวานา มานาไวตี ประเดียอะจีผู้วายชนม์ ซึ่งนายราวานาฯ ได้ให้นายคำบิดานางสาวถมยาและนายอึ้งคุณจำเลยเช่าห้องแถวทำการค้า ต่อมาบิดานางสาวถมยาตาย นางสาวถมยารับช่วงทำการค้าต่อ จำเลยทั้งสองสำนวนผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากห้องเช่า และชำระค่าเช่าที่ค้างกับค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากห้องพิพาทและให้จำเลยสำนวนแรกใช้ค่าเสียหายเดือนละ 80 บาท จำเลยในสำนวนสองใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากห้องพิพาท
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยนำสืบก่อนทุกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 ให้อำนาจศาลที่จะสั่งให้คู่ความฝ่ายใดนำสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้ และคดีนี้ประเด็นที่จำเลยต่อสู้ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ และจำเลยได้รับความคุ้มครองฯ นั้น เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งถ้าได้ความแล้วคดีอาจพิจารณาพิพากษาไปได้โดยไม่ต้องพิจารณาประเด็นข้ออื่น ๆ และที่ศาลสั่งให้จำเลยนำสืบก่อนทุกประเด็นก็ไม่ทำให้จำเลยเสียหาย เพราะเมื่อจำเลยนำสืบเสร็จแล้ว หากมีการเสียหายเกิดขึ้นจากการนำสืบของโจทก์ภายหลัง จำเลยก็อาจร้องขอศาลนำสืบหักล้างได้ และฎีกาของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะมีพยานหลักฐานอื่นใดที่จะนำสืบเพิ่มเติมอีกแม้ศาลจะสั่งให้จำเลยนำสืบก่อนก็ไม่ทำให้การวินิจฉัยคำพยานในคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จึงไม่มีข้อที่ศาลฎีกาจะสั่งแก้
ที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าศาลเห็นว่าพินัยกรรมมีผลใช้ได้ ก็กำหนดให้โจทก์เก็บค่าเช่า ไม่ได้ให้ฟ้องคดีนั้น พินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์รายนี้ได้ก่อตั้งขึ้นก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ซึ่งให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2478 เป็นต้นไปจึงไม่ขัดต่อกฎหมายไทยที่ใช้อยู่ในเวลานั้น และพินัยกรรมข้อ 18 ได้กำหนดให้โจทก์มีอำนาจจัดการและเก็บค่าเช่าทั้งสองประการ คำว่าจัดการ ในที่นี้ย่อมหมายถึงการดำเนินการต่าง ๆ ตลอดจนการฟ้องร้องนอกจากนั้นโจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกผู้วายชนม์ตามพินัยกรรมซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 ในระหว่างจัดการทรัพย์มรดกผู้จัดการชอบที่จะทำการใดในทางจัดการที่จำเป็นได้ เช่น ฟ้องคดี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาว่า พินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดกรวม 4 คนเมื่อเหลือโจทก์คนเดียวโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ได้ความว่านางเนี้ยวนายอารีผู้จัดการมรดกได้ถึงแก่กรรมและนายหลีได้ลาออกโดยได้รับอนุญาตจากศาลกงศุลอังกฤษ คงเหลือแต่โจทก์คนเดียวทั้งพินัยกรรมไม่ได้กำหนดให้ผู้จัดการมรดกทั้งสี่คนจัดการมรดกพร้อมกัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องได้ตามมาตรา 1715
ที่จำเลยฎีกาว่า การจัดการมรดกรายนี้ล่วงเลยกว่า 20 ปี สิทธิของโจทก์จะระงับไปนั้น เห็นว่าพินัยกรรมไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดของการจัดการมรดกไว้ และการจัดการมรดกไม่ใช่สิทธิเรียกร้องไม่มีอายุความ เมื่อจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น โจทก์มีอำนาจจัดการตลอดไปจนกว่าจะเสร็จ ฎีกาคัดค้านของจำเลยฟังไม่ได้
ฎีกาจำเลยข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งแดงที่ 303/2497 และ 305/2497 ของศาลแขวงพระนครใต้นั้นศาลแขวงพระนครใต้ยกฟ้องคดีแพ่งดังกล่าว โดยโจทก์แสดงอำนาจฟ้องไม่ถูกต้อง คือไม่อ้างต้นฉบับพินัยกรรมมาแสดงต่อศาล ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นข้อต่อสู้เรื่องขับไล่จำเลยออกจากห้องพิพาท คดีจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกประการ
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย