แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ถึงแม้สามีจะได้แยกไปอยู่กับภริยาใหม่แล้วก็ดี แต่ก็ยังไปมาที่บ้านภริยาเดิม ไปร่วมรับประทานอาหารกับบุตรเกือบทุกวันและทั้งยังเป็นผู้อุปการะบุตรอยู่ด้วย ภริยาเดิมสั่งคนเฝ้าบ้านไม่ให้ใครเข้าห้องนอกจากตนเองกับลูกๆ แม้กระนั้นสามีก็ยังอุตส่าห์ไปมาที่บ้านภริยาเดิมอยู่แทบทุกวัน.สามีไปบ้านภริยาเดิมทีไร ก็ตั้งข้อสังเกตสอบถามคนในบ้านว่ามีใครไปมาหาโจทก์ เป็นการแสดงกิริยาหวงแหนสนใจในความเป็นอยู่ของโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวนี้ จะถือว่าสามีจงใจละทิ้งภริยาเดิมเพื่ออ้างมาเป็นเหตุฟ้องหย่าหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลย โดยอ้างเหตุหย่า 3 เหตุ คือ
1. จำเลยใช้กิริยาหยาบคายต่อโจทก์ ทำร้ายโจทก์ถึงบาดเจ็บ
2. จำเลยประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง
3. จำเลยจงใจทิ้งร้างโจทก์ และไม่ให้ความอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรตามสมควร
จำเลยต่อสู้ตรงข้ามกับเหตุหย่าที่โจทก์อ้างมาฟ้อง
ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า เหตุหย่าตามข้อ 1 และ 2 แม้เป็นความจริงสิทธิฟ้องร้องของโจทก์ก็ระงับไป เพราะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1509 แล้ว
ส่วนเหตุหย่าข้อ 3 ศาลแพ่งฟังว่า จำเลยให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรตามสมควรแล้วแต่การที่จำเลยแยกกันอยู่กับโจทก์ ไปอยู่กับภริยาใหม่ มิได้มาหลับนอนกับโจทก์ฉันท์สามีภริยาโดยมิใช่ความผิดของภริยานั้น ถือว่าเป็นการจงใจละทิ้งร้างภริยาตลอดมาเกินกว่า 1 ปี โจทก์ย่อมอ้างเหตุนี้ฟ้องหย่าได้ จึงพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากสามีภริยากัน
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
คดีมีข้อโต้เถียงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแต่เพียงข้อเดียวว่า จำเลยได้จงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปีดังที่ศาลล่างวินิจฉัยมานั้นหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า เพียงแต่การที่จำเลยมิได้ไปหลับนอนกับโจทก์ฉันท์สามีภริยา จะถือว่าเป็นการจงใจละทิ้งร้างโจทก์ได้หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ถึงแม้จำเลยจะได้แยกไปอยู่กับภริยาใหม่แล้วก็ดี แต่จำเลยก็ยังคงไปมาที่บ้านโจทก์ไปร่วมรับประทานอาหารกับบุตรเกือบทุกวัน และทั้งจำเลยยังเป็นผู้อุปการะบุตรของจำเลยอยู่ด้วย โจทก์สั่งคนเฝ้าบ้านไม่ให้ใครเข้าห้องนอกจากโจทก์กับลูก ๆ แม้กระนั้นจำเลยก็ยังอุตส่าห์ไปมาที่บ้านโจทก์แทบทุกวัน จำเลยไปบ้านโจทก์ทีไร ก็ตั้งข้อสังเกตุสอบถามคนในบ้านว่ามีใครไปมาหาโจทก์เป็นการแสดงกิริยาหวงแหนสนใจในความเป็นอยู่ของโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวจะถือว่า จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์หาได้ไม่
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์