คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4900/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดฯ จะมีผลใช้บังคับแล้วในวันที่จำเลยกระทำความผิด แต่มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้กำหนดต่อไปว่า บทบัญญัติในหมวด 3 จะให้ใช้บังคับเมื่อใด ในท้องที่ใด ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ออกประกาศให้ใช้บังคับบทบัญญัติหมวด 3 แก่ท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นท้องที่ที่จำเลยกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป แต่เมื่อในวันดังกล่าวจำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้วมิใช่เป็นเพียงผู้ต้องหากรณีของจำเลยจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 19 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในหมวด 3 ดังกล่าวได้ ดังนั้น จึงไม่อาจจะนำบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวมาใช้กับกรณีของจำเลย
ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา… ด้วยเหตุนี้เองเมื่อจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ขณะปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับขี่ จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดหกเดือนนับแต่วันพิพากษา จึงเป็นไปโดยชอบตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เนื่องจากความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ ซึ่งเป็นบทหนักมีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษให้ลงโทษจำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าจะต้องนำพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาบังคับให้เป็นคุณแก่จำเลย เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับแล้วในวันที่จำเลยกระทำความผิด แต่มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดต่อไปว่า บทบัญญัติในหมวด 3 จะให้ใช้บังคับเมื่อใด ในท้องที่ใด ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ออกประกาศให้ใช้บังคับบทบัญญัติหมวด 3 แก่ท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นท้องที่ที่จำเลยกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป แต่เมื่อในวันดังกล่าวจำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้วมิใช่เป็นเพียงผู้ต้องหา กรณีของจำเลยจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 19 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในหมวด 3 ดังกล่าวได้ ดังนั้น จึงไม่อาจจะนำบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวมาใช้กับกรณีของจำเลย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า ศาลไม่อาจพิพากษาให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา… ด้วยเหตุนี้เองเมื่อจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ขณะปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับขี่ จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดหกเดือนนับแต่วันพิพากษา จึงเป็นไปโดยชอบตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง แล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า การเสพเมทแอมเฟตามีนทำให้จิตและประสาทของผู้เสพผิดปกติจนขาดความยั้งคิดไม่สามารถควบคุมตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะที่ขับรถยนต์บรรทุกย่อมเสี่ยงต่อการเกิดภยันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งร่วมใช้เส้นทางได้ทุกขณะ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share