คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1400/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าครองชีพที่ นายจ้าง จ่ายให้ลูกจ้างเป็นประจำรายเดือน มีกำหนดแน่นอนเช่นเดียว กับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ถือ ว่าเป็นเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานดังนี้เป็นค่าจ้างตาม ความหมายของประกาศ กระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2 ซึ่ง ต้อง นำมาเป็นฐาน ในการคำนวณค่าชดเชยด้วย ประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46ระบุว่าการเลิกจ้างหมายถึง การที่ นายจ้าง ให้ลูกจ้างออกจากงานปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน โดย ลูกจ้างมิได้กระทำผิดตาม ข้อ 47มิได้มีข้อความระบุยกเว้นไว้ว่าการออกจากงานเนื่องจากขาดความอุตสาหะ หย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง ดังนี้ การที่ นายจ้าง เลิกจ้างโดย เหตุที่ลูกจ้างขาดความอุตสาหะ หย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ จึงมิใช่การเลิกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำความผิดตาม ข้อ 47.

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 6
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 5 และนายสุทันสนั่นนาม สามีโจทก์ที่ 6 เป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 2เมษายน 2527 และวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2532 โจทก์ที่ 1 ที่ 2ได้ขอลาออกจากงานตามลำดับโดยไม่มีความผิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม2532 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2523 และวันที่ 16 มกราคม 2523 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ตามลำดับ โดยอ้างว่าโจทก์ที่ 3ที่ 4 ที่ 5 หย่อนความสามารถในการทำงาน และเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน2531 นายสุทัน สามีโจทก์ที่ 6 ได้ถึงแก่กรรม ครั้งสุดท้ายโจทก์ที่ 1ได้รับค่าจ้างวันละ 75 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้างวันละ 93 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท โจทก์ที่ 3 ได้รับค่าจ้างวันละ 81 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 400 บาทโจทก์ที่ 4 ได้รับค่าจ้างวันละ 52 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 400 บาทโจทก์ที่ 5 ได้รับค่าจ้างวันละ 52 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 400 บาทนายสุทัน ผู้ตายได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,570 บาท ค่าครองชีพเดือนละ300 บาท โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และโจทก์ที่ 6 ซึ่งเป็นภริยาและเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งของนายสุทันผู้ตายมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 เป็นเงิน21,250 บาท 30,468 บาท 33,945 บาท 5,880 บาท 11,760 บาทและ 164,880 บาท ตามลำดับ แต่จำเลยจ่ายให้ไม่ครบยังขาดอยู่เป็นเงิน 4,000 บาท 4,800 บาท 6,000 บาท 1,200 บาท 2,400 บาทและ 7,200 บาท ตามลำดับ และจำเลยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 16,980 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 5,880 บาทโจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 11,760 บาท ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ยังขาดอยู่จำนวน 4,000 บาท 4,800 บาท 6,000 บาท1,200 บาท 2,400 บาท 7,200 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ลาออกจากงาน วันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 3 ที่ 4ที่ 5 และวันที่นายสุทันถึงแก่กรรมจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย จำนวน 16,980 บาท 5,880 บาท 11,760 บาทแก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การว่า ค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้างตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 3และตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เพราะเป็นเพียงเงินสวัสดิการที่ให้ความสงเคราะห์ช่วยเหลือพนักงานผู้มีรายได้น้อยตามมติคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะโจทก์ที่ 2 นั้นลาออกจากงานเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2532 ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีและข้อบังคับองค์การทอผ้าให้ยกเลิกค่าครองชีพตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 แล้วโจทก์ทั้งหกไม่อาจขอให้นำค่าครองชีพมารวมเพื่อคำนวณเงินบำเหน็จและค่าชดเชยได้ จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ออกจากงานเนื่องจากโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ขาดความอุตสาหะหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 แต่เป็นการเลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 กระทำผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และการที่ โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 หย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 3 ที่ 4ที่ 5 ออกจากงาน เป็นการออกจากงานโดยผลของกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2520 มาตรา 3 โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย
โจทก์ทั้งหกและจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดจำนวน 4,000 บาท 4,800 บาท 6,000 บาท 1,200 บาท 2,400 บาทและ 7,200 บาท แก่โจทก์ทั้งหกตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2532 สำหรับโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 และวันที่ 13 ตุลาคม 2532 สำหรับโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 และจ่ายค่าชดเชยจำนวน 16,980 บาท 5,880 บาท และ 11,760 บาทแก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 สำหรับโจทก์ที่ 3วันที่ 30 พฤศจิกายน 2523 สำหรับโจทก์ที่ 4 และวันที่ 16 มกราคม2523 สำหรับโจทก์ที่ 5 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าค่าครองชีพเป็นเงินที่จ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการช่วยเหลือพนักงานชั้นผู้น้อย มิใช่ค่าจ้าง จึงไม่อาจนำค่าครองชีพมารวมเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จและค่าชดเชยได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ที่ 1ถึงที่ 5 และนายสุทัน สนั่นนาม ผู้ตายเป็นลูกจ้างของจำเลยได้รับค่าจ้างและค่าครองชีพตามฟ้อง ค่าครองชีพเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และนายสุทันเป็นประจำรายเดือนมีกำหนดแน่นอนเช่นเดียวกับค่าจ้าง ถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จึงเป็นค่าจ้างส่วนหนึ่งตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ซึ่งต้องนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและตามข้อบังคับองค์การทอผ้าว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521เอกสารท้ายคำให้การข้อ 3.3 และ 3.4 ระบุไว้ว่า คำว่า “เงินเดือน”และ “ค่าจ้าง” หมายความว่าเงินที่จ่ายให้แก่พนักงานเป็นรายเดือนและรายวันเพื่อตอบแทนการทำงานของพนักงานรวมทั้งเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ แต่ไม่รวมเงินตอบแทนในลักษณะค่าล่วงเวลาโบนัสเบี้ยเลี้ยง เบี้ยกรรมการ หรือประโยชน์อย่างอื่น เช่นนี้ เมื่อได้ความว่าจำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และนายสุทันผู้ตายเป็นประจำทุกเดือน มีจำนวนแน่นอนทำนองเดียวกับเงินเดือนหรือค่าจ้าง เห็นได้ว่าค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้เพื่อตอบแทนการทำงาน จึงเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว ซึ่งต้องนำค่าครองชีพมารวมเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จด้วย
จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า การที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขาดความอุตสาหะ หย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 แต่เป็นการเลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวและเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2520มาตรา 3 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่ ระบุว่าการเลิกจ้างหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานโดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว มิได้มีข้อความระบุยกเว้นไว้ว่าการออกจากงานเนื่องจากขาดความอุตสาหะหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง และการที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ขาดความอุตสาหะหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างนั้นเห็นได้ว่า มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานทั้งมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามที่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11ซึ่งแก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แต่อย่างใดดังนั้นการที่จำเลยให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 พ้นจากตำแหน่งจึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่ มิใช่เป็นการเลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ที่ 3ถึงที่ 5 กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และมิใช่เป็นการพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ…”
พิพากษายืน.

Share